ใน 8 ร้อยพันมุมดลใจ จากอีเมลของยอดเยี่ยม งานเขียนของ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พิมพ์เป็นหนังสือ ส่งเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2560

ผมชอบนิทาน มีทั้งนิทานเซน นิทานไทย วันนี้ขอเอานิทานพื้นบ้านไทย เรื่องกระต่ายกับจระเข้ มาขยายต่อ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กระต่ายยังมีหางยาวสวยงามเหมือนกระรอก และในครั้งนั้น จระเข้ก็มีลิ้นยาวเหมือนสัตว์ลิ้นยาวทั่วๆไปในโลก

วันหนึ่ง กระต่ายกระหายน้ำ มันตรงรี่ไปหาแม่น้ำ เมื่อถึงมันก็หลับตาก้มดื่มน้ำอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ไม่ทันได้ระวังว่า จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่ง ซุ่มเงียบอยู่ใกล้บริเวณนั้น มันขยับตัวเข้ามาหาอย่างช้าๆและเงียบกริบ

ทันใดนั้นจระเข้ก็อ้าปากกว้างใช้ลิ้นยาวกระชากกระต่ายเข้าไปในปาก

จระเข้อยากลิ้มชิมรสกระต่ายมานาน แทนที่จะกลืนลงคอ มันแค่งับคาไว้ แล้วคำรามเสียงขู่ ตั้งใจจะให้กระต่ายกลัว กระต่ายกลัวตัวสั่น แต่ยังปากแข็ง แสร้งทำเป็นไม่กลัว ตะโกนว่า

“เจ้าจระเข้ผู้น่าสงสาร ท่านแม้ตัวใหญ่ พยายามส่งเสียงขู่ แต่เสียงเจ้าไม่ดังพอที่จะทำให้เรากลัว ถ้าต้องการให้เรากลัว ท่านควรอ้าปากให้กว้างๆ ส่งเสียงคำรามดังๆ”

แผนกระต่ายได้ผล จระเข้โกรธมาก มันอ้าปากกว้าง คำรามเสียงขู่ดังกึกก้อง

กระต่ายได้ที กระโดดออกจากปากจระเข้ และด้วยใจหมายแก้แค้น มันกางกรงเล็บเท้ากระชากลิ้นยาวของจระเข้ติดออกมาด้วย

จระเข้เจ็บมาก มันหุบปากโดยสัญชาตญาณ เขี้ยวของมันก็งับเข้าที่หางกระต่าย

กระต่ายสละพวงหางสวยงามแลกชีวิต ขณะที่จระเข้เสียลิ้น ให้กับความเขลาที่ไม่รู้ทันเล่ห์กระต่าย

นับแต่นั้นมา จระเข้จึงไม่มีลิ้นยาว ส่วนกระต่าย หางก็ไม่งอกออกมาอีก

และเพราะความฝังใจกับการสูญเสียหางให้จระเข้ กระต่ายไม่ยอมดื่มน้ำตามแม่น้ำลำคลอง มันเห็นว่าเต็มไปด้วยเภทภัย มันเลือกดื่มน้ำจากบนยอดหญ้า น้ำที่มันเชื่อว่าดื่มได้สนิทใจและปลอดภัยที่สุด

...

นิทานเรื่องนี้ เป็นนิทานพื้นบ้านไทย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ใช้ธรรมเนียมนิทานอีสป มีคำสอนทิ้งท้าย

หากไม่ยอมอยู่ร่วมกันฉันมิตร ทุกฝ่ายก็ต้องแลกกับความสูญเสีย

ถ้าไม่อ่านนิทานเรื่องนี้ ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า จระเข้จะลิ้นสั้น เพราะเคยแต่ฟังสำนวน “ลิ้นจระเข้” ที่คนพูดตั้งใจเย้ยว่า กินอะไรก็ได้ไม่เลือก แบบไม่ต้องการรสชาติ

อยากแน่ใจ จระเข้ลิ้นสั้นหรือไม่มีลิ้นเลย จะไปดูจระเข้ที่เขาดินวันนี้ ก็ไม่แน่ใจ เขาดินปิดไปแล้วหรือยัง ถ้าปิดแล้วก็เห็นจะต้องตามไปดูที่สวนสัตว์ในต่างจังหวัด

ส่วนกระต่ายเรื่องหางกุดสั้นนั้นรู้อยู่แล้ว แต่ที่ไม่รู้ คือไม่รู้ว่ากระต่ายกินน้ำบนยอดหญ้า นิทานที่ผมอ่านตอนเรียนชั้น ป. เตรียม มีเรื่องจิ้งหรีดกับลาโง่

เจ้าลาฟังเสียงร้องจิ้งหรีดไพเราะเสนาะหูนัก ก็ไปถาม จิ้งหรีดบอกว่า กินน้ำค้างบนยอดหญ้าทุกเช้า เจ้าลาอยากมีเสียงไพเราะบ้าง ก็เลิกกินอาหารที่เคยกิน หันไปกินแต่น้ำค้าง

นิทานเรื่องนี้จบลงว่า ในไม่ช้า ลาโง่ตัวนั้นก็ตาย

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ถ้าโง่แบบฟังใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ก็ควรตายไปเสียดีกว่า ลาโง่จึงไม่น่าสงสาร เท่าจระเข้ที่หลงกลกระต่าย อ้าปากคำรามเพื่อให้รู้ว่าใหญ่ แต่ลงท้ายก็ต้องเสียลิ้น

เอ้อ...ถ้าคนไม่มีลิ้น พูดไม่ได้ น่าจะดีกว่า พยายามอ้าปากพูด ผู้ใหญ่บางคนที่ผมดูทางทีวี ถ้าไม่พูดเสียเลย น่าจะเก็บแต้มได้มากกว่า ยิ่งพูดมากคนที่ไม่ชอบเขายิ่งหาว่าโง่.

กิเลน ประลองเชิง