การปฏิรูปตำรวจ วันนี้ยังอยู่ในช่วงการศึกษางานวิจัยที่มีอยู่มากมายนับสิบฉบับ แต่ที่ผมรู้สึกแปลกใจก็คือ ไม่มีการ “ตั้งเป้าหมายการปฏิรูป” ว่า “จะปฏิรูปตำรวจไปสู่เป้าหมายอะไร” นอกจากนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ 3 ข้อ คือ โครงสร้างและภารกิจ อำนาจการสอบสวน และ การแต่งตั้งโยกย้าย ที่มีข่าวฉาวโฉ่เส้นสายและการซื้อขายตำแหน่ง

ผมก็หวังว่าเมื่อศึกษาเอกสารวิจัยเสร็จแล้ว จะมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนต่อไป

ประเด็นที่ผมจะเขียนถึงในวันนี้ เป็นข้อมูลที่ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปงบประมาณกิจการตำรวจ ของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่รายงานในสภาถึง ปัญหาการขาดแคลนกำลังพล ยานพาหนะ น้ำมัน ของสถานีตำรวจทั่วประเทศ ฟังแล้วก็ต้องอึ้ง

สงสารตำรวจที่ถูกรัฐบาลทอดทิ้ง จนต้องไปหาเงินกันเองเพื่อความอยู่รอด สงสารประชาชนผู้เสียภาษีที่ถูกทอดทิ้ง จากการที่ตำรวจถูกทอดทิ้งอีกทอด

พล.ต.อ.วรพงษ์ รายงานว่า ปัจจุบันกำลังพลตำรวจทั่วประเทศขาดแคลนอยู่ 43,708 อัตรา จากกำลังพลที่มีความจำเป็น 179,239 อัตรา รถยนต์ขาดอยู่ 18,892 คัน จากความจำเป็นที่ต้องมี 24,775 คัน รถจักรยานยนต์ขาดอยู่ 12,626 คัน จากความจำเป็นที่ต้องมี 49,658 คัน การขาดแคลนดังกล่าว ส่งผลให้ตำรวจไม่สามารถจัดวางกำลังในสายงานต่างๆได้ โดยเฉพาะ พื้นที่นครบาลมีกำลังสายตรวจเพียง 12,204 คน ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรม

น่าเศร้ากว่านั้น พล.ต.อ.วรพงษ์ รายงานว่า รัฐบาลติดค้างเงินค่าตอบแทนการทำสำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน สะสมมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เป็นเงินถึง 729 ล้านบาท พนักงานสอบสวนต้องใช้เงินส่วนตัวจ่ายไปให้ก่อน เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนไม่อยากรับคดี เพราะจะมีค่าใช้จ่ายตามมา

...

มิน่าละครับ เวลาไปแจ้งความ ตำรวจจึงมักอิดออดไม่อยากทำคดี หรือไม่ก็มีการขอค่าน้ำมันรถ เพราะรถตำรวจก็ต้องเติมน้ำมันเอง มันช่างน่าเศร้าอะไรปานนั้นตำรวจไทย

ผมเผอิญไปเจอกับ พล.ต.อ.วรพงษ์ ในค่ำวันเดียวกัน ท่านอธิบายให้ฟังว่า ตามหลักสากล การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เขาจะแบ่งเมืองออกเป็นเขต 1 เขตมีประชากร 4,000 คน แต่ละเขตจะมี ตำรวจสายตรวจ 1 ชุด ประกอบด้วย ตำรวจ 2 คน มอเตอร์ไซค์ 1 คัน ในแต่ละชุดจะต้องมี 3 กะ ทำงานกะละ 8 ชั่วโมงตลอด 24 ชั่วโมง และต้องมีเพิ่มอีก 1 ชุด เพื่อให้ตำรวจที่ทำงาน 3 กะ มีเวลาหยุดพักผ่อนสัปดาห์ละ 2 วัน ดังนั้น 1 เขต จะต้องมีตำรวจสายตรวจ 4 กะ รวม 8 คน

นี่คือจำนวนตำรวจสายตรวจต่อประชากรตามหลักสากล

กรุงเทพมหานคร ตามตัวเลขทางการ มีประชากร 5.7 ล้านคน (ความจริงมีเป็น 10 ล้านคน) เอาเขตละ 4,000 คนหาร กรุงเทพฯต้องแบ่งเป็น 14,250 เขต มีตำรวจสายตรวจเขตละ 8 คน รวม 114,000 คน แต่วันนี้ กรุงเทพฯมีตำรวจสายตรวจแค่ 12,204 คน ทำให้ ตำรวจสายตรวจ 1 คน มีภาระต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถึง 467,059 คน มันเป็นไปได้อย่างไร แต่ก็เป็นไปแล้วในประเทศไทยยุค 4.0 นี้

เรื่อง เงินเดือนตำรวจ ก็เช่นเดียวกัน พล.ต.อ.วรพงษ์ บอกว่า กระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย ศาล อัยการ ตำรวจ ปรากฏว่า ศาลมีเงินเดือนสูงสุด อัยการอันดับสอง ตำรวจได้เงินเดือนต่ำสุด แต่ตำรวจเป็นขบวนการยุติธรรมอันดับต้น ทั้งการจับกุมสอบสวน

ยิ่งฟังก็ยิ่งเหนื่อยครับ ผมหวังว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คงจะรู้นะครับ จะปฏิรูปตำรวจเพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบ ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถ้าตำรวจไม่ได้รับความยุติธรรมเสียเอง แล้วตำรวจจะไปให้ความยุติธรรมกับประชาชนได้อย่างไร.

“ลม เปลี่ยนทิศ”