ช่วงก่อนวันหวยออก ผมนั่งอ่านข่าวมโนสาเร่ประดับความรู้คู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็พบข่าวน่าสนใจจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่า มีชาวบ้านนำ ต้นตะเคียนยักษ์ ขึ้นมาจาก อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ไปเก็บไว้ที่ วัดสำราญนิเวศ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ใกล้วันหวยออกชาวบ้านก็ไปบูชาขอเลขเด็ด จนทางวัดต้องติดประกาศว่า ห้ามทาแป้ง แต่คอหวยก็บ่ยั่น เปลี่ยนมาใช้มือส่องแทน บอกว่า เห็นเลขชัดเจนกว่าทาแป้งเสียอีก ข่าวรายงานว่า งวดที่ผ่านมามีคนได้เลขเด็ดรับทรัพย์ไปหลายแสน

ไม่รู้งวดนี้จะมีชาวบ้านโชคดีรับทรัพย์ไปอีกกี่แสน

นี่คือข่าวธรรมดาในสังคมไทย ไม่ว่า “ยุคก่อน 4.0” หรือ “ยุค 4.0” นอกจากข่าว เจ้าแม่ตะเคียนยักษ์ ยังมีข่าว ต้นกล้วยออกเครือกลางต้นเหมือนพญานาคกำลังชูคอ ที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ คนก็แห่ไปไหว้ขอหวยกันใหญ่ หวังร่ำรวยจากการซื้อหวย เพราะคนสวนบอกว่าฝันเห็นพญานาคีสาวสวยมาเข้าฝันจะประทานโชคให้

ผมเอาสองข่าวนี้มาเล่าให้ฟัง เพื่อจะบอกรัฐบาลว่า “ความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องที่ รัฐบาล ต้อง “ตระหนัก” ให้มากๆ

วันศุกร์ที่แล้ว คุณจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แถลงถึง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ทำให้ กนง.ต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่ำเท่าเดิมต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

กนง.ประเมินว่า จีดีพีไทยปีนี้จะเติบโตขึ้นเป็น 3.5% จากที่เคยประเมินไว้ 3.4% และ จีดีพีปีหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จากที่ประเมินไว้เดิม 3.6% ตัวตามตัวเลขการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น แต่...กนง.ยังมีความกังวลในเรื่อง ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่เกิดจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ทั่วถึง (แปลไทยเป็นไทยก็คือ จีดีพีไทยโตแบบกระจุก แต่ไม่กระจายทั่วถึง) และ เอ็นพีแอล (หนี้เสีย) ของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

...

กนง.ให้เหตุผลว่า เอ็นพีแอลธุรกิจเอสเอ็มอีที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน เพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่ขยายตัวเต็มที่ ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ หรือปรับตัวได้ช้าก็แข่งขันได้น้อยลง

ข้อมูลนี้ คุณลัดดา สำเภาทอง นายกสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดี 6 เดือนแรกปีนี้ ร้านอาหารปิดไปแล้วกว่า 1,300ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ทั้งปีคาดว่าจะปิดมากกว่า 2,300 ร้าน เพราะปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ทำให้คนกินข้าวนอกบ้านลดลง แถมยังเจอ กฎหมายแรงงานต่างด้าว ซ้ำเติม เพราะ 70% ของแรงงานในร้านอาหารเป็นต่างด้าว ร้านอาหารปิดตัวมากที่สุดคือ ภาคอีสาน รองมา ภาคเหนือ แต่ก็มีร้านใหม่เข้ามาแทน ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ กนง. เห็นว่า อาจมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก็คือ ระดับเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ส่วนหนึ่งมาจาก กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง บวกกับ ราคาพลังงาน ราคาอาหารสด ปรับตัวไม่สูงมากนัก

เหตุผลทั้งหมดที่ กนง. พูดอ้อมไปอ้อมมา ล้วนแสดงให้เห็นถึง สภาพเศรษฐกิจไทย ที่ “โตแบบกระจุก แต่ไม่กระจาย” หรือ “รวยกระจุก แต่จนกระจาย” ก่อให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขึ้น จาก ความรู้ และ การพัฒนา ที่ ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่รัฐบาลก็ให้ความสนใจแต่ เมกะโปรเจกต์ ทุ่มเงินลงทุนไม่รู้กี่ล้านล้านบาท แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังยากจนและล้าหลัง ส่งผลให้เกิดสภาพ “บ้านเมืองพัฒนา แต่คนไม่พัฒนา”

ผมไม่กล้าเสนอแนะครับ แต่ขอฝากเป็นข้อคิดไปถึงรัฐบาลก็แล้วกันครับ

ประเทศที่อยู่ในสภาพอย่างนี้ ไม่ดีแน่นอนในระยะยาว ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนต้องได้รับการพัฒนาด้วย ไม่ใช่มีแต่ ตึกสวย รถไฟความเร็วสูง และ คนจนความรู้น้อย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”