สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เชิญ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “กระแสโลก” รับใช้ ผอ. กองแผนและวิชาการของ อปท. 100 คน ศุกร์วันนี้ 13.00-16.00 น. ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จ.ปทุมธานี

ธันวาคม 2559 รัฐบาลและ กกต. อุซเบกิสถานเชิญอาจารย์นิติภูมิธณัฐเป็นผู้สังเกตการณ์นานาชาติสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี พอถึง พ.ศ.2560 ก็มีคำเชิญจากสถานกงสุลใหญ่ฯ ให้ไปบรรยายในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลในเอเชียกลาง

สนทนากันเมื่อวันก่อน อาจารย์บอกว่า ต้องไปเอเชียกลางให้บ่อยขึ้น เพราะในอนาคตอันใกล้ กลุ่มประเทศเหล่านี้จะสำคัญมาก

เมื่อถามว่า เอเชียกลางกินพื้นที่ขนาดไหน อาจารย์บอกว่า เริ่มตั้งแต่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองทิเบต+ประเทศมองโกเลีย อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซ เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน หลายครั้งมีการรวมเอาอัฟกานิสถานและปากีสถานเข้ามาอยู่ในเอเชียกลางด้วย

ทีมงานเปิดเลนส์ส่องโลกตามอาจารย์นิติภูมิธณัฐไปเอเชียกลางมากกว่า 10 ครั้ง เคยตระเวนไปตามเทือกเขาต่างๆ ทั้งเทือกเขาอัลไต เทียนชาน คุนลุนชาน ฮินดูกูช เคยพักในกระโจมในทะเลทรายโกบี แม้ว่าจะอยู่ไกลจากตุรกี แต่ชาวตุรกีในปัจจุบันก็มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาจากเอเชียกลางนะครับ ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 เซลจูกเป็นผู้นำเติร์ก ท่านนำชาวเอเชียกลางที่เรียกกันว่าพวกเซลจูกเติร์กตามชื่อหัวหน้าไปโจมตีและตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เรียกว่าอะนาโตเลียในเอเชียตะวันตกหรือเอเชียไมเนอร์ ซึ่งก็คือดินแดนตุรกีในปัจจุบัน

ทุกครั้งที่มีคนสัญชาติจีนเชื้อชาติอุยกูร์หนีการลงโทษไปอยู่ในประเทศอื่น รัฐบาลตุรกีจะออกวีซ่า เพื่อให้ชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปอยู่ในประเทศตุรกี มีการแย่งตัวกันระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลตุรกี รัฐบาลจีนต้องการลงโทษ รัฐบาลตุรกีต้องการดูแล

...

คนที่อ่านข่าวทั่วไปก็งงว่า ตุรกีมาเกี่ยวอะไรด้วย ขอเรียนครับ คนตุรกีคิดอยู่เสมอว่า บรรพบุรุษของตนมาจากเอเชียกลาง

นอกจากเซลจูกเติร์กแล้ว ยังมีผู้นำชาวเติร์กจากเอเชียกลางอีกท่านหนึ่งชื่อ ออสมัน ซึ่งภายหลังมีการเรียกชื่อเพี้ยนเป็น ‘ออตโตมัน’ พากองทัพไปรุกรานอะนาโตเลียในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ต่อมา ลูกหลานของออสมันหรือออตโตมันนี่แหละครับ ไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ ออตโตมันก็เข้าไปในยุโรป ขยายอำนาจจนถึงชานกรุงเวียนนาในคริสต์ศตวรรษที่ 17

เมื่อก่อนนั้น พวกออตโตมันเติร์กมีอิทธิพลต่อโลกมาก ภายหลังไปร่วมมือกับเยอรมนีทำสงครามโลกครั้งที่ 1 รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และก็แพ้ ทำให้จักรวรรดิออตโตมันเติร์กอันยิ่งใหญ่ล่ม เหลือเพียงตุรกีซึ่งเล็กกว่าจักรวรรดิออตโตมันมาก

สมัยก่อนตอนโน้น เอเชียกลางเป็นชุมทางการค้าขายติดต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย เส้นทางสายไหมที่เราพูดกันบ่อยๆนี่ ก็ผ่านเอเชียกลางด้วย

เมื่อก่อน ในเอเชียกลางมีดินแดนที่เรียกว่า ตุรกีสถานตะวันตกที่คนส่วนใหญ่พูดจาภาษาเติร์ก บางคนเรียกดินแดนนี้ว่า ตุรกีสถาน

ราชวงศ์ชิงของจีนเข้ายึดดินแดนบางส่วนของตุรกีสถาน อีกส่วนหนึ่งของตุรกีสถาน รัสเซียก็เข้าไปยึด ทั้งจีนทั้งรัสเซียต่างก็พยายามยัดเยียดวัฒนธรรมของตนเองให้ชนชาติเติร์กในเอเชียกลาง

ต่อมา ทั้งรัสเซียและจีนต่างเป็นคอมมิวนิสต์ รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต สองประเทศใหญ่นี่ก็แบ่งดินแดนเอเชียกลางกันจีนได้ทิเบต มองโกเลียใน ส่วนโซเวียตได้ในส่วนที่เหลือ

ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์ตั้งสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ.1922 รัฐชนชาติเติร์กในเอเชียกลางทั้ง 5 รัฐก็กลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมและเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มีทั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัค สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคีร์กีซ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเติร์กเมน และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทาจิก

ตั้งแต่มีการขุดคลองสุเอซ เอเชียกลางเงียบเหงาเพราะการค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชียผ่านทางเรือสะดวกกว่า แต่ปัจจุบัน รัสเซีย จีน อินเดีย และอิหร่าน เริ่มมีความเจริญ ประเทศต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ระหว่าง 4 ประเทศนี้ เริ่มมีเศรษฐกิจดี มีคนเข้าไปท่องเที่ยวเยอะแยะ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้อาจารย์นิติภูมิธณัฐรับไปบรรยายในเอเชียกลางบ่อยขึ้น.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com