สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด-19” ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 100 ล้านราย...เสียชีวิตแล้วกว่า 2.19 ล้านราย “สหรัฐฯ” ...ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก
ขณะที่ “ประเทศไทย” เริ่มคลายล็อก กระทรวงศึกษาธิการประกาศเปิดเรียนปกติทั่วประเทศ 1 ก.พ.2564 ยกเว้นพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ย้ำว่า...ต้องดำเนินการตามมาตรการ “ป้องกัน” และ “ควบคุม” อย่างเคร่งครัด
โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล...ให้เปิดการเรียนการสอนได้ โดยแต่ละห้องเรียนต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คน กรณีห้องเรียน ไม่เพียงพอให้จัดการเรียนการสอนด้วยการสลับวันเรียน
ตอกย้ำความเข้าใจความรู้ในการป้องกันการแพร่กระจายของ “COVID–19” ในห้องเรียนและที่ประชุม ลักษณะห้อง : ในกรณีที่ปิดแอร์เปิดหน้าต่างได้ หนึ่ง...แนะนำให้ปิดแอร์เปิดหน้าต่าง และใช้พัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศและความร้อน ถ้าเปิดหน้าต่างได้ทั้ง 2 ฝั่งแนะนำให้เปิดทั้ง 2 ฝั่ง ถ้ามีหน้าต่างด้านเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายอากาศและระบายความร้อนแนะนำให้ตั้งพัดลมไว้ใกล้ชิดกับหน้าต่าง
...
ข้อพึงระวังสำคัญ...ไม่แนะนำให้ใช้พัดลมพัดให้ส่ายไปมา เพราะอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อได้ ถัดมา...นักเรียนทุกคนรวมทั้งครูจะต้องสวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เรียน ครูที่สอนเวลาพูดไม่ควรดึงหน้ากากลงมาอยู่ใต้คาง
สาม...การนั่งเรียนควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร เข้าใจง่ายๆ ว่า...พื้นที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตรต่อ 1 คน และแนะนำให้หันหน้าไปด้านเดียวกันทุกคน
ในกรณีที่ห้องเรียนไม่สามารถปิดแอร์ได้และห้องเป็นระบบปิดแต่มีหน้าต่าง สำคัญที่สุด...นักเรียนทุกคนรวมทั้งครูจะต้องสวมใส่หน้ากากผ้า...หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เรียน ครูเวลาพูดไม่ควรดึงหน้ากากลงมาอยู่ใต้คาง ถ้าเป็นไปได้การนั่งเรียนควรนั่งห่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร เฉลี่ย พื้นที่อย่างน้อย 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน
ระหว่างช่วงพัก ให้ปิดแอร์และเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดีขึ้นการปิดแอร์เปิดหน้าต่างเป็นพักๆ...ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อการระบาย อากาศในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากจึงแนะนำให้ติดพัดลมดูดอากาศเพิ่ม
กรณีห้องเรียนที่เป็นระบบปิดที่ไม่สามารถเปิดหน้าต่างได้เลย ก็ให้พิจารณาติดพัดลมดูดอากาศในห้องเรียนทุกห้องโดยการติดตั้งสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบดังนี้
แบบที่ 1...เพิ่มการระบายอากาศด้วยการติดพัดลมดูดอากาศออก และพัดลมดูดอากาศเข้าพร้อมแผงกรองอากาศ เพื่อเพิ่มการระบายอากาศภายในห้อง อัตโนมัติทุก 1-2 ชั่วโมง...ครั้งละ 5-10 นาที
แบบที่ 2...ในกรณีที่เร่งด่วน ไม่สามารถจัดหาแผงกรองอากาศติดกับพัดลมที่ดูดอากาศเข้า ก็สามารถใช้พัดลมดูดอากาศได้ตามปกติ แต่การไม่มีแผงกรองอากาศขาเข้าอาจมีผลกระทบจากฝุ่นที่อาจเข้ามาในห้อง
แบบที่ 3...ติดพัดลมดูดอากาศออกเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ แต่วิธีนี้การระบายอากาศอาจจะไม่ดีเท่า 2 วิธีแรก แต่ก็ดีกว่าการไม่ติดพัดลมดูดอากาศออกเพิ่ม
หมายเหตุ...โดยปกติห้องเรียนหรือห้องอาหารที่ติดแอร์ปิดประตูปิดหน้าต่าง จะถูกออกแบบให้มีการระบายอากาศเพียงประมาณ 2-4 air change per hour (ACH) ซึ่งการติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มจะเป็นการเพิ่มการระบายอากาศ อาจเพิ่มเป็น 6 หรือ 8 ACH ขึ้นอยู่กับขนาดของพัดลม จำนวนของพัดลม และปริมาตรห้อง
การกำหนดให้เปิดปิดเป็นเวลา เทียบเคียงคล้ายกับการเปิดหน้าต่างไม่ต้องเปิดตลอดก็อาจจะเป็นการช่วยลดปัญหาลงได้ ตามคำแนะนำโดยทั่วไปห้องที่มีผู้ป่วยติดเชื้อที่แพร่ทางเดินหายใจกำหนดให้ห้องมีการหมุนเวียนอากาศมากกว่า 12 ACH เพื่อให้เชื้อหมดออกจากในห้อง 99% ใช้เวลาเพียง 23 นาที
ส่วน “ห้องเรียน” และ “สถานประกอบการ” ไม่ได้ถือว่าเป็นพื้นที่ จุดเสี่ยงสูงมากเหมือนห้องติดเชื้อที่จะจำเป็นต้องสูงถึง 12 ACH
“ห้องรับประทานอาหาร” อีกพื้นที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้นักเรียนนั่งรับประทานอาหารภายในห้องเรียน เป็นที่นั่งเฉพาะส่วนบุคคลและควรมีแผ่นพลาสติก...อะคริลิกกั้น
หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันในจำนวนคนหมู่มากมารวมตัวกันที่ห้องอาหาร แนะนำให้จัดเป็นอาหารกล่องบรรจุแจกให้เฉพาะส่วนบุคคล ตั้งไว้ บนโต๊ะเฉพาะ หลีกเลี่ยงการเดินตักอาหารที่เป็นลักษณะการต่อแถว...
ถ้าเป็นไปได้ควรงดเว้นการพูดคุยในระหว่างที่รับประทานอาหาร จะพูดคุยได้หลังจากที่สวมใส่หน้ากากแล้วเท่านั้น...ถ้ามีการไอจาม ในระหว่างรับประทานอาหาร ต้องปิดปากทุกครั้ง
นอกจากนี้แล้วควรที่จะมีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยครั้ง อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได คีย์บอร์ด เป็นต้น โดยใช้น้ำเปล่าผสมน้ำสบู่...ผงซักฟอก หรือ น้ำยาทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำลายต่อพื้นผิว
สุดท้าย “ห้องส้วม”...ทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำยาที่ใช้ทั่วไปหรือที่เรียกว่าน้ำยาฟอกขาว หรืออาจใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็ได้ และควรตรวจสภาพพัดลมดูดอากาศให้สามารถเปิดใช้งานได้ตลอดในช่วงที่โรงเรียนเปิด ถ้าเป็นห้องส้วมที่ติดเครื่องปรับอากาศให้ปิดเครื่องปรับอากาศแนะนำให้เปิดหน้าต่างแทน
การใช้ “รังสีอัลตราไวโอเลต” หรือ “รังสียูวี” แม้ว่าสามารถทำลายเชื้อโรคได้ในอากาศและบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆได้แต่ควรจะเปิดในกรณีที่ไม่มีคนอยู่ในห้องเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผิวหนังและดวงตา
บวกกับปัจจัยสำคัญที่ว่า...ประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจะลดลงทุกๆ 1 เมตรที่ห่างออกไป และจะต้องมีเวลาที่เชื้อจะต้องโดนรังสี UV เป็นระยะเวลานาน 5 นาที ถึงจะสามารถทำลายเชื้อได้ อีกทั้งยังต้องทำใน บริเวณพื้นที่ที่เป็นระบบปิด ถ้าเป็นระบบเปิด พื้นที่โล่งการระบายอากาศดีอยู่แล้ว การนำ UV มาใช้จะไม่มีประโยชน์
ในแง่การฆ่าเชื้อที่ล่องลอยในอากาศ ในพื้นที่ที่กว้างการทำลายเชื้อโดยการใช้วิธีเช็ดถูด้วยให้ครบทุกพื้นผิวสัมผัสร่วมให้บ่อยครั้งน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่า
กรณีการใช้ “เครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนที่” ตามคำแนะนำของ Centers of Disease Control and Prevention ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจพิจารณาให้นำมาใช้ได้ในโรงเรียน เฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถปรับปรุงการระบายอากาศได้ เช่น บริเวณห้องปฐมพยาบาล ห้องแยกโรคนักเรียนที่มีอาการ
เนื่องจากราคาสูงการนำมาใช้กับทุกห้องอาจจะไม่คุ้มค่า และมีให้เลือกหลายขนาดขึ้นอยู่กับพื้นที่ห้อง ถ้าพื้นที่ห้องขนาดใหญ่เลือกเครื่องที่ไม่เหมาะสมกับขนาดห้อง ประโยชน์ของการนำมาใช้ประสิทธิภาพจะลดลง
ส่วนสถานประกอบการที่อื่นๆ เช่น ร้านอาหาร สามารถนำมาตรการเรื่องการระบายอากาศมาปรับใช้ตามความเหมาะสมแล้วแต่พิจารณา...ควรเน้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดของทุกๆคน เน้นการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ความถี่ในการเช็ดพื้นผิวสัมผัสร่วมกันให้บ่อยครั้ง...ทั่วถึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ข้อมูลเหล่านี้เขียนและเรียบเรียงโดย นพ.กำพล สุวรรณพิมลกุล, พญ.ปัทมา ต.วรพานิช, พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล, พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์, นพ.โอภาส พุทธเจริญ และ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email : sgompol@ gmail.com โทรศัพท์ : 0-2256-4578
“การป้องกันตนเอง”...การ์ดอย่าตกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนรอดพ้นจาก “โควิด–19”.