“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะเป็นกระทรวงต้นแบบของกระทรวงรูปแบบใหม่ที่มีความคล่องตัว ทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย ประสานและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตและพัฒนางานวิจัย สร้างนวัตกรรม ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาล ทั้งเป็นการปฏิรูปการอุดมศึกษาให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง”
เป้าหมายหลักของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ จาก ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ผู้ที่มีส่วนร่วมปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสานต่อแนวทางการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยการผลักดันของมติที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จนเมื่อได้ก้าวเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การสานต่อจึงเป็นรูปเป็นร่าง โดยรวม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี (วท.) เข้าไว้ด้วยกัน
ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 10 ฉบับ เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับที่รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อเดินหน้างานนี้ให้สำเร็จ โดยในส่วน สกอ.กำลังเร่งวางภารกิจ และกรอบอัตรากำลังให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ เพื่อรวมกับสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ส่วนมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 25 แห่ง, มหาวิทยาลัยรัฐ 9 แห่ง, มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง, วิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง ซึ่งกระทรวงใหม่จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมปรับสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ
...
หันมาทาง กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งกำลังจะได้ชื่อว่าเป็นปลัด วท.คนสุดท้าย ระบุตอนหนึ่งว่า
“เชื่อว่าทิศทางประเทศไทยหลังการเกิดขึ้นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะดีขึ้น” พร้อมฉายภาพกรอบเวลา หรือไทม์ไลน์ (Timeline) สู่กระทรวงใหม่ ที่รวมเอากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, สกอ., สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (วช.) เข้าด้วยกันว่า
“หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 ฉบับในเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษาฯ ต้องจัดโครงสร้างอัตรากำลังให้เสร็จภายใน 3 ปี โดยใช้เวลา 90 วันนับจากกฎหมายประกาศในราชกิจจาฯ หรือเดือน ก.ค.จัดทำกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ โอนบุคลากรตามโครงสร้าง จัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จากนั้นอีก 90 วันหรือเดือน ต.ค.จะต้องมีการสรรหาและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ 4 ชุด คือ สภานโยบายการอุดมฯ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมฯ (สอวช.) และคณะกรรมการอำนวยการในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใน 180 วัน และอีก 90 วัน ประมาณเดือน ธ.ค.2562 ต้องแต่งตั้ง คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.), คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และอีก 2 ปีคือประมาณเดือน เม.ย.2564 การจัดทำระเบียบข้อบังคับต่างๆเสร็จสิ้น ขณะที่ปี 2565 การเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงใหม่น่าจะแล้วเสร็จ” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานแรกที่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว คือ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ย้ายไปอยู่สังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวท.) ส่วนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จะต้องย้ายไป สวทช. ขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่มีอายุ 128 ปี ต้องเปลี่ยนจากราชการไปเป็นองค์การมหาชนภายใน 3 ปี คือ ประมาณเดือน เม.ย.2565 โดยได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น “สถาบันวิทยาศาสตร์บริการ” แล้ว ส่วน วช.จะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการเมื่อครบ 3 ปี
“กระทรวงใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ควอนตัมคอมพิวติ้ง เทคโนโลยีใหม่ที่จะพลิกโลกทั้งใบ จนถึงขั้นเปลี่ยนนิยายวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นความจริงได้มาใช้ประโยชน์ให้เกิดกับประเทศ และประชาชนหรือการใช้วิทยาศาสตร์ไปยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ” ปลัด วท.ระบุ
“ทีมการศึกษาและทีมข่าววิทยาศาสตร์” ขอฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการอุดมศึกษาฯ และรัฐบาลใหม่ เดินหน้าปฏิบัติภารกิจต่างๆให้สำเร็จตามแผนงานที่กำหนด
เพื่อสานฝันประเทศไทย บนเวทีนานาชาติบนโลกดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ.