การเมืองเข้มแข็ง การนำมีทิศทางทรงพลัง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ขยับมุมคิดโยนลูกให้สังคมได้ช่วยกันขบคิดหาทางออก ทางรอดประเทศไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “กำลังทำลายระเบียบโลกเดิม”

กินความหมายไปถึงต่างคนต่างใช้อำนาจของตัวเอง ประเทศใหญ่ได้เปรียบประเทศเล็ก ไทยมีอำนาจไม่มากต่อรองกับบรรดามหาอำนาจทั้งหลาย และไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดมากๆ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจเรา ฉะนั้นไทยได้รับผลกระทบกระเทือนมาก

ไทยจึงไม่ใช่แค่ต้องการการเมืองที่มีการนำที่เข้มแข็ง แต่ต้องเป็นการนำที่สามารถเล่นบทบาทในระหว่างประเทศได้ด้วย มีส่วนสำคัญผนึกกำลังกับอาเซียนสามารถต่อรอง วางตัวเหมาะสมบนสมรภูมิที่สหรัฐฯกับจีนขัดแย้งกันสูงอันนี้คือปัจจัยภายนอก

พอมองเข้ามาภายในเศรษฐกิจขยายตัวต่ำมากต่อเนื่องเป็น 10 ปีแล้ว ไม่ใช่แค่ต่ำเทียบกับในอดีต ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเกือบทั้งหมด ขอพูดให้ชัดเพื่อความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า อันนี้มันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

อาการแบบนี้บ่งบอกไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง

แต่นโยบายที่พูดถึงกันพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย ไม่มีนโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้างเลย

แต่การเมืองไม่ตอบโจทย์ภาวะแบบนี้ โดยรัฐธรรมนูญ 60 ดันเขียนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ระบบเลือกตั้งกลายเป็นเบี้ยหัวแตก ได้รัฐบาลผสมสวนทางกับความเป็นจริงที่ต้องการรัฐบาลมีทิศทางชัดเจนและมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง

มาถูกซ้ำเติมในบทบัญญัติอำนาจของวุฒิสภา ทำให้เกิดจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว และพรรคเพื่อไทยมีวาระเกี่ยวข้องกับการกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นรวมตัวกันเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนในการใช้อำนาจ ความคิดอ่านไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

...

“ยิ่งนายกฯ (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ไม่มีประสบการณ์ ยังมีพ่อเล่นบทผู้นำนอกรัฐบาล ยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น วันนี้แทบตอบไม่ได้ว่าทิศทางที่รัฐบาลต้องการจะพาประเทศไปมันคืออะไร

ผ่านมา 2 ปีต้องมาแก้ปัญหานโยบายหาเสียง ดิจิทัลวอลเล็ต ยังเจอไอเดียกระฉูดคริปโตเคอเรนซี กาสิโน

โดยที่พรรคร่วมรัฐบาล เหมือนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง ต่างคนต่างทำ มีอาณาจักรของตัวเอง คาดคงรวมตัวแบบนี้ไปเรื่อยๆจนครบวาระ ไม่มีใครอยากเลือกตั้ง”

แม้มีกระทบกระทั่งกัน แต่ไม่มีพรรคไหนอยากให้รัฐบาลมีปัญหาถึงขั้นกลับไปเลือกตั้งเร็วๆนี้ เพราะทุกคนประเมินว่าเลือกตั้งเร็วๆนี้ พรรคประชาชนน่าจะมีความได้เปรียบที่สุด ที่สำคัญสมมติต่อให้พรรคประชาชนชนะแต่ได้เสียงไม่ถึงครึ่ง มีความเป็นไปได้สูงรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นก็เป็นแบบนี้อีก

ที่น่ากังวลไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจ-การเมืองติดหล่ม

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไทยต้องปรับตัวรุนแรง

ทางออกก็อยากเห็นรัฐบาลได้ตั้งหลัก ผู้กำหนดนโยบายจริงจังกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องใช้เวลาในการแก้ไข สร้างผลงานเป็นรูปธรรม ถ้าสำเร็จย่อมเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำสำเร็จสักเรื่องมันช่วยได้เยอะ

สมมติปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ไม่สอดคล้องกับโลกธุรกิจโลกเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง แก้ทีละเรื่องไม่ทันการณ์ ต้องยกเครื่องตัวกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต การกำกับดูแลทั้งหมด รวมถึงโครงสร้างการแข่งขันที่ผูกขาดมากขึ้น ปิดโอกาสคนเยอะแยะไปหมด อาจรวมถึงเรื่องภาษี สวัสดิการ

เห็นได้ว่าเรื่องประกันสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง งานนี้ฝ่ายค้านได้แต้มไปเยอะ หรือสมมติต้องสร้างระบบสวัสดิการ ต้องใช้เงิน เงินจากการจัดเก็บภาษีไม่พอ ต้องเปลี่ยนแปลงภาษีอย่างไรให้เป็นธรรม

ฉะนั้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแทบเป็นโอกาสสุดท้าย 2 ปี มีเวลาเพียงพอทำเรื่องใหญ่ๆให้เป็นรูปธรรม มันจะมีผลดีต่อประเทศเป็นคำตอบให้กับสังคมตั้งรัฐบาลข้ามขั้วเพื่ออะไร และเป็นตัวช่วยให้กลับเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

เกิดจากมี “พ่อมหาจำเริญ” มีผู้นำในอำนาจหลายคน ถึงเกิดปรากฏการณ์ ทางการเมืองดังกล่าว นายอภิสิทธิ์บอกว่า สมมตินายทักษิณมีอิทธิพลต่อทิศทางอะไรต่างๆ ทำไมไม่มาเดินอย่างนี้

รู้สึกว่าแนวคิดยังย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว บรรดาประชานิยมทั้งหลายมันยังกลับไปอยู่ตรงนั้น อาจมองว่าเคยประสบความสำเร็จ แต่ประเทศไทยกับโลกมันผ่านไปอีก 20 ปี ความต้องการวันนี้มันแตกต่างไปจากเดิม

แก้เศรษฐกิจติดหล่ม การเมืองติดหล่มก็ต้องรื้อกติกา แต่ขณะนี้เดินไปต่อไม่ได้ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า สว.กลายเป็นตัวแปร ถ้าเล่นบทที่เป็นอยู่จะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ที่ผ่านมาการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) มันผิดพลาดหลายจังหวะ

จนลามมาถึงมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กลายเป็น แก้กติกาเพื่อนักการเมือง ถึงวันนี้ไม่รู้ว่าแนว ส.ส.ร.เดินต่อได้หรือไม่ แต่มันไม่ง่าย ในที่สุดถ้าอยากเดินหน้าต้องทำ 1 ใน 2 ทาง คือ 1.มี ส.ส.ร.ภายใต้โจทย์บังคับไว้บางเรื่อง เช่น ตรวจสอบถ่วงดุลต้องมีกลไกที่สามารถทำอะไรบางสิ่งบางอย่างได้ ทั้งเรื่องคอร์รัปชัน จริยธรรม คุณธรรม หมวด 1 หมวด 2 ขอบเขตคืออะไร ถ้าแบบนี้จะเริ่มคลายข้อกังวล อาจเดินได้

2.ทำเป็นรายมาตรา โดยฝ่ายมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดต้องมาแสวงหาจุดร่วมไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เช่น เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแก้ระบบการเลือกตั้งวุฒิสภาเชื่อสังคมตอบรับสูง อยู่ที่จะไปกดดัน สว.ได้มากแค่ไหน แต่ต้องไม่กระทบต่อ สว.ชุดนี้

หากไม่แก้ รธน. ในทางการเมืองไม่มีใครเดือดร้อนเท่าไหร่ เลือกตั้งครั้งหน้าก็ได้รัฐบาลแบบนี้ ฝ่ายค้านก็มีความเชื่อว่ารอได้ สะสมกำลังไปเรื่อยๆไม่มีปัญหา หลังเลือกตั้งครั้งหน้าไปอีก 2 ปี ตัวจริงเขาที่ติดโทษเว้นวรรคทางการเมืองก็กลับมาแล้ว

แต่ปล่อยไว้แบบนี้ประเทศ-ประชาชนเดือดร้อนเพราะยิ่งหลุดจากวงจรต่างๆมากขึ้นไปเรื่อยๆระหว่างที่ยังไม่มีกระแสแก้ รธน. เกิดปรากฏการณ์การเมืองพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระ กลุ่มทุนและการเมืองแทรกกระบวนการยุติธรรม นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ตอนนี้หลายเรื่องคนเริ่มรู้สึกค่อนข้างรุนแรง แต่บังเอิญสังคมยังเหนื่อยล้ากับปัญหาชุมนุมประท้วงในรอบเกือบ 20 ปี ความล้าของสังคมตรงนี้ทำให้ปฏิกิริยาต่างๆที่ออกมาชุมนุมยังไม่แรง

“ของแบบนี้ประมาทไม่ได้เพราะเวลาเกิดมันเร็วมาก เวลาจุดติดขึ้นมามันเร็วมาก สมมติมันสะสมแบบนี้ไปเรื่อยๆมันอยู่ในใจคนอยู่แล้ว เกิดมีเรื่องอะไรบางอย่างที่จุดติดขึ้นมาก็อันตราย”

ยังมีปัจจัยสังคมทุกระดับขาดผู้นำ ไม่มีผู้นำที่พูดแล้วสังคมเชื่อมั่น 100% สภาพแบบนี้จะนำไปสู่อะไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า นอกจากปัญหาต่างๆแล้วยังอาจจะยังขาดผู้นำ แต่ประเด็นที่พูดคุยวันนี้มันสะสม มันเริ่มตกผลึกมากขึ้นๆ จะขยายสู่วงกว้างมากขึ้นๆ

อย่าให้สะสมจนกระทั่งในที่สุดไม่มีทางออกแล้วมันระเบิด

แต่อยากให้สะสมเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายการเมืองตอบสนอง

ขณะนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างการเมืองใหม่กับการเมืองเก่า แต่ตอนนี้ฝ่ายการเมืองเก่าคุมอำนาจทั้งหมด นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ขอยํ้าอีกครั้งว่าอย่าประมาท อย่าชะล่าใจ อย่าลืมในอดีตเห็นคนที่ชะล่าใจ ย่ามใจ คิดว่ามีอำนาจแล้วคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้

สุดท้ายไม่ได้แปลว่าสามารถเอาตัวรอดได้ ถ้าหากการเมืองไม่ตอบสนองโจทย์ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ไปสักระยะเวลาพอสมควร

ถึงจุดหนึ่งมันมีแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหน.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม