ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนไปรวดเร็ว “ประเทศไทย”ต้องเผชิญความไม่แน่นอน สิ่งแวดล้อม และการเมืองระหว่างประเทศต่อการตัดสินใจของมหาอำนาจในเวทีโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
กลายเป็นความท้าทายให้รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อเสริมความมั่นคงในอนาคตนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ปาฐกถาพิเศษ THAILAND VS GLOBELโอกาสและความท้าทายในภูมิทัศน์โลกจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเนื่องในครบรอบ 70 ปีว่า
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากจริงๆ “ส่วนหนึ่งเกิดจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์” จนย้อนมากระทบต่อวิถีของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น “น้ำท่วม น้ำแล้ง โคลนถล่ม” อย่างดินโคลนเข้าท่วมบ้านทั้งหลังใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย สมัยก่อนไม่เคยเจอแบบนี้ แต่เพราะตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่เหนือขึ้นไปในเมียนมาทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไป

ส่วนการเยียวยาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และภาคใต้ ใช้เงินไปกว่า 90,000 ล้านบาท “อันเป็นเงินมหาศาลแต่ไม่ได้อะไรเลย นอกจากการเยียวยา” ดังนั้น ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
...
แม้แต่ฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่บางวันสูง 200-300 มคก./ลบ.ม. แล้วก่อนนี้ไปประชุมดูนิทรรศการในเวียดนามค่าฝุ่นสูง 350-400 มคก./ลบ.ม. ทำให้เห็นว่าฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นทั่วดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “จนในที่ประชุมรัฐมนตรีที่มาเลเซีย” หลายประเทศก็พูดถึงฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่อาเซียนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ถัดมาคือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 80 ล้านบาท/วัน และเหยื่อถูกหลอกลวงก็ล้วนเป็นปัญญาชน หรือข้าราชการตั้งแต่ชั้นน้อยจนถึงชั้นผู้ใหญ่ “เป็นภัยคุกคามรับรู้มานาน” ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทย จีน และเมียนมา แต่ความร่วมมือนี้ ก็ไม่ใช่รัฐบาลจีนจะเข้ามากำหนดให้เราต้องทำตาม
แต่มีการพูดคุยกันมาเป็นเดือน “มุ่งปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เพราะประเทศไทยถูกใช้เป็นทางผ่านทั้งซีกตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ก็เจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพียงแต่ไปโผล่ที่มาเลเซีย

ดังนั้น แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีอยู่รอบด้านเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ที่ “รัฐบาลไทย” กำลังประสบปัญหาการลำเลียงบุคคลเหล่านี้กลับประเทศ “ด้วยมีเงื่อนไขหากประเทศต้นทางพร้อมมารับจึงจะอนุญาตให้เข้าไทยได้” เพราะถ้าไม่มีประเทศต้นทางมารับ “ประเทศไทย” อาจจะต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบดูแลที่เราไม่อาจทำเช่นนั้นได้
ทำให้ต้องพยายามประสาน “ติดต่อกับประเทศต้นทางทุกประเทศเร่งด่วน” เพราะกลุ่มประเทศที่เป็นชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนรับไม่ไหวแล้ว “ถ้าปล่อยคนเหล่านี้ออกมาก็ทะลักเข้ามาในไทยทั้งหมด” จึงต้องรีบติดต่อทุกประเทศ เบื้องต้น “จีน” เข้ามารับทุกวัน ยอดขณะนี้ 4,000-7,000 คน แต่ตัวเลขจริงอาจมีถึง 50,000 คน
ตอกย้ำผลกระทบเปลี่ยนผ่านระเบียบโลก “กรณีเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ” ที่สะเทือนไปทั่วภูมิภาคในการกำหนดทิศทางใหม่ “เศรษฐกิจโลก การเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคง” จนหลายประเทศเจอปัจจัยเสี่ยง ต้องประคองจุดยืนให้สมดุลสร้างการมีเสถียรภาพเข้มแข็ง จัดการปัญหาของประเทศให้มั่นคงท่ามกลางพลวัตเปลี่ยนไปนี้

เรื่องนี้รัฐบาลตระหนักดี “กำลังดำเนินนโยบายให้สมดุล” เพื่อช่วงชิงโอกาส และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ เพราะการกลับมา ของทรัมป์มีผลสะเทือนจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนโยบาย American First ถูกผลักดันอย่างเข้มข้นจนสหรัฐฯลดบทบาทในระบบพหุภาคีหันมาเน้นเจรจากับทวิภาคีมากขึ้น
ในการใช้มาตรการภาษีนำเข้า “นโยบายกีดกันทางการค้า” ที่เป็นเครื่องมือต่อรองกับประเทศอื่นๆ ทำให้ไทยต้องเผชิญเงื่อนไขทั้งการลดดุลการค้า การลดการลงทุน และการลดความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน “สร้างแรงสั่นสะเทือนห่วงโซ่อุปทานของโลก” ผลักดันให้บริษัทข้ามชาติกระจายฐานผลิตออกจากจีนไปยังภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจ “แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่บีบให้ไทยเลือกข้างระหว่าง 2 มหาอำนาจ

แต่ด้วยไทยเป็นประเทศเล็กมีจุดยืนตลอดว่า “เป็นมิตรกับทุกประเทศ” ที่รักสงบ มีจุดยืนพยายามให้มหาอำนาจใช้ความอดทนอดกลั้นแก้ปัญหาอย่างสันติ เพราะสงครามไม่สร้างผลดีให้มนุษยชาติมีแต่การทำลาย
อย่างไรก็ดี ในวิกฤติย่อมมีโอกาส “ไทย” สามารถใช้จังหวะนี้ให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างการแข่งขัน “ใช้ตำแหน่งที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ในการเร่งดึงดูดการลงทุนของบริษัทกำลังหาฐานการผลิตใหม่ พร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก
เช่นนี้อยากนำเสนอ “การปรับบทบาทอาเซียน” ที่เป็นกลไกการเร่งการพัฒนาให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก “ด้วยการผลักดันแสวงหาโอกาสทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน” สร้างอำนาจต่อรอง ลดการ พึ่งพามหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะการขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนจะเป็นโอกาสสร้างอำนาจต่อรองได้

เนื่องจาก “ไทยประเทศเดียวไม่มีอำนาจต่อรอง” แล้วไม่อาจ อยู่โดดเดี่ยว หรือพึ่งพามหาอำนาจภายนอกอย่างเดียวได้ จึงต้องร่วม ผลักดันอาเซียนเป็นองค์กรเข้มแข็งสามารถกำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้ ด้วยตัวเอง
“ตอนนี้รัฐบาลกำลังมุ่งมั่นทำประเทศให้แข็งแกร่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง ขีดความสามารถประชาชน และมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ทุกคนเติบโตแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม สร้างระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเอง สร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจให้ไทยรักษาบทบาทบนเวทีโลกอย่างมีเสถียรภาพ และมีเกียรติภูมิ” ภูมิธรรมว่า
ทว่าในมิติ “เศรษฐกิจ” ก็ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ ในปี 2567 ประเทศไทยได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนต่างประเทศมากกว่า 14 ประเทศ และพบผู้บริหารเอกชนชั้นนำ 40 กว่าแห่ง

เพื่อดึงความเชื่อมั่นการลงทุนมายัง “ประเทศไทย” ทั้งยังส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า และได้รับ ความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนศูนย์ข้อมูล data center การบริการคลาวด์เซอร์วิสมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท ที่ดึงเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ
สิ่งนี้สะท้อนความมุ่งมั่น “รัฐบาล” ในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สู่เศรษฐกิจใหม่ และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั่วโลก เหล่านี้ ล้วนเป็นความพยายามของรัฐบาลในการรับมือการเปลี่ยนแปลง...
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม