นับถอยหลังโค้งสุดท้ายกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 47 จังหวัดที่เหลือ จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.2568 ทำให้การหาเสียงของผู้สมัครมีทั้งที่ลงในนามพรรคการเมืองใหญ่ และลงในนามบ้านใหญ่ อันเป็นเครือข่ายนักการเมืองในจังหวัดคอยสนับสนุนต่างเป็นไปด้วยความคึกคัก

ด้วยบทบาทหน้าที่ “อบจ.” ในการส่งเสริม พัฒนา บริหารจัดการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนท้องถิ่นอย่าง ใกล้ชิด “อันเป็นฐานคะแนนเสียงขนาดใหญ่” จนพรรคการเมืองใหญ่ หวังครอบครอง ส่งแกนนำ สส. และอดีต สส. เดินทางลงพื้นที่ไปหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครในนามพรรค

เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ทำให้การเลือกตั้งอบจ.คราวนี้ได้เห็นการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงการเมืองระดับชาติชัดเจน มากขึ้น รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ประธานบริหารหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชานวัตกรรมการสื่อสารทางการเมือง และการปกครองท้องถิ่น สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า

นับแต่ผ่านการเลือกตั้ง สส.ก็ได้เห็นพรรคการเมืองใหญ่ชนะการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย “อันเป็นพรรคที่ครองเสียงส่วนใหญ่” แล้วเป็นตัวแปรสะท้อนที่นั่ง สส.ของแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร ทำให้หลาย พรรคต้องปรับกลยุทธ์กำหนดทิศทางการเพิ่มตำแหน่ง สส.ใหม่

สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2570 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น จนกลายมาเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้แก่ “พรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ” เริ่มหันมาสนใจในการขับเคลื่อนเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด “ด้วยการส่ง ผู้แทนของพรรคลงชิงนายก อบจ.” เพื่อทดสอบความนิยมทางการเมือง สอดคล้องกับพรรคหรือไม่เพียงใด

...

สังเกตอย่างกรณี “พรรคประชาชน” อันเป็นพรรคที่ประกาศนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่การเลือกตั้ง สส.แล้วพยายามเฟ้นหาผู้สมัครชิงนายก อบจ.ทำการเมืองท้องถิ่นมาต่อเนื่อง “พรรคเพื่อไทย” แม้มิได้ประกาศชัดเจนกับการส่ง
ผู้สมัครในนามพรรค “ชิงนายก อบจ.” แต่ก็ไม่ต้องการสูญเสียฐานคะแนนตรงนี้

เช่นนี้เลย “ต้องปักธงส่งคนลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.” โดยเฉพาะพื้นที่ที่มี สส.ของพรรคหลักชัดเจนเพื่อหวังจะกุมชัยชนะการเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเช่นเดียวกับ “พรรคภูมิใจไทย” ก็ค่อนข้างมีความชัดเจน ในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้ต้องส่งผู้สมัครในนามพรรคในพื้นที่ที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่มี สส.พรรคอยู่

ทำให้เห็นว่า “พรรคการเมืองใหญ่” ต่างเคลื่อนไหวลงมาเล่น การเมืองท้องถิ่นชัดเจนมากกว่าอดีต “อันมีเป้าหมายได้มาซึ่งเก้าอี้นายก อบจ.” ที่จะเป็นตัวสะท้อนความนิยมทางการเมืองแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์กับพรรคมากน้อยเพียงใด เพราะประชาชนบางจังหวัดก็ยังไม่ต้องการระบบพรรคการเมืองมาบริหารท้องถิ่นก็มี

ทว่ากรณี “การส่งผู้ลงสมัครชิงนายก อบจ.ในนามพรรค” ก็ใช่ว่าสมาชิกในพรรคจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ทุกคนเสมอไป เพราะด้วย บางพื้นที่ สส.ในพรรคก็คอยช่วยเหลือให้การสนับสนุนผู้สมัครมาก่อน อยู่แล้ว เรื่องนี้ถ้าเป็นสมัยก่อน “พื้นที่ใดขัดแย้งกันสูง” พรรคมักจะ ปล่อยให้ลงสมัครอย่างอิสระที่พร้อมจะสนับสนุนกับผู้ชนะเท่านั้น

แต่ว่าครั้งนี้ “พรรคจะตัดสินใจทำแบบเดิมไม่ได้” ต้องนำผล สำรวจความนิยมมาประกอบการตัดสินใจต่อการสนับสนุนผู้สมัครคนใดจะได้ลงในนามพรรคอันมีหัวใจสำคัญจาก “ผลทางการเมืองระยะยาว” เพราะอย่าลืมว่า อบจ.เป็นเหมือนรัฐบาลเล็กๆในจังหวัด “มีเงินงบประมาณครบวงจร” หากตัวแทนพรรคชนะการเลือกตั้ง

ย่อมสามารถดูแลประชาชนได้เข้มแข็ง “เป็นตัวสะท้อนความนิยมทางการเมืองส่งผลถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่” ดังนั้นการเลือกตั้งนายก อบจ.เหมือนการประเมินฐานคะแนนนิยมอันเป็นเค้าลางการเลือกตั้ง สส. หากไม่เป็นไปตามคาดก็จะต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ “ทำงานในพื้นที่ให้หนัก” เพื่อจะสามารถแย้งชิงที่นั่ง สส.เพิ่มขึ้นได้

ตอกย้ำว่า “เลือกตั้ง อบจ.เป็นกลไกสร้างเครือข่ายระดับจังหวัด” แน่นอนว่าผู้สมัครจะสามารถได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ต้องมีเครือข่ายการสนับสนุนในจังหวัด เมื่อขึ้นมาเป็นนายก อบจ.แล้วก็ต้องตอบแทนด้วยการสนับสนุนเครือข่ายพันธมิตรตัวเองลงชิงการเลือกตั้งนายก ทต. และนายก อบต.ที่จะเกิดขึ้นตามมา

สิ่งนี้อาจเป็นโอกาสปรับเปลี่ยนการพัฒนาท้องถิ่นได้ดีขึ้นจาก “สส. นายก อบจ. นายก ทต. และนายก อบต.” ที่ล้วนอยู่ในเครือข่าย พรรคการเมืองเดียวกันอันนำมาซึ่งการเกื้อกูลก่อเกิดการพัฒนาอย่างก้าวล้ำกว่าอดีต เพราะด้วยประเทศไทยยังประสบปัญหาการจัดสรรงบประมาณ มักจัดตามสายสัมพันธ์ทางการเมืองมาจนวันนี้

ซึ่งก็เป็นความท้าทายสำหรับ “การกระจายอำนาจภายใต้พรรค การเมือง” หากย้อนดูที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลมักประกาศการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเสมอ “แต่ไม่เคยสำเร็จ” เพราะปัจจัยจากการสร้างความนิยมทางการเมือง “ในโครงการใหญ่” สำหรับดูแลประชาชน รัฐบาลกลางมักจัดสรรงบประมาณเอง

กระทั่งทำให้ “กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นไปอย่างช้าๆ” เรื่องนี้คงต้องหวังพึ่งพาพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเข้ามาพัฒนาท้องถิ่นให้ยิ่งใหญ่เหมือนรัฐบาลเวียดนามที่กล้าประกาศปฏิรูปราชการยุบกระทรวงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะไม่มีรัฐบาลใด
ดูแลประชาชนครอบคลุมได้ฝ่ายเดียว

ดังนั้นกรณี “พรรคการเมืองระดับชาติลงมาเล่นการเมืองระดับล่างครั้งนี้” อาจเป็นเรื่องดีในแง่การนำเสนอส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพ “พัฒนาการเติบโต” จนนำไปสู่การปกครองท้องถิ่นแบบ พิเศษขึ้นมาก็ได้

สุดท้ายการเลือกตั้งคราวนี้ “ประชาชน” ต้องพิจารณาความเชื่อมั่นของตัวผู้สมัครอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่คุณสมบัติ นโยบาย และวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องอันจะนำพาจังหวัดไปสู่ความเจริญได้อย่างไร เพราะปัจจุบันนโยบายการหาเสียงของผู้สมัครหลายคน “ลอกแบบมาจากการเมืองระดับชาติ” เสมือนขายฝันอันเป็นประชานิยมเท่านั้น

ฉะนั้นประชาชนจำเป็นต้องมองถึงความรู้ ความสามารถ และนโยบายอันเป็นเลิศ เพื่อจะได้นายก อบจ.คนดีมีความสามารถเข้ามา กุมการบริหารจังหวัดให้สามารถแก้ปัญหาผลักดันนำพาไปสู่ความเจริญได้อย่างยั่งยืน

เน้นย้ำว่า “การเลือกตั้ง อบจ. หรือ ส.อบจ. 1 กุมภาฯ 2568 นี้” อย่าเลือกเพราะพวกพ้องขอมา หรืออย่าเลือกเพราะอามิสสินจ้างเคย ค้ำชูอุปถัมภ์เป็นการส่วนตัว และอย่าเพราะเป็นเครือข่ายที่เคยเกื้อกูลกันมาแต่อดีต เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เราต้องสูญเสียในการพัฒนาบ้านเมืองไปอีก 4 ปี...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม