ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งใหญ่คงจะได้เห็นพรรคการเมืองใหญ่ที่หวังชนะเลือกตั้งปล่อยกลเม็ดเด็ดพรายให้ประจักษ์เพื่อต้องการเป็น “เดอะวินเนอร์”
ไม่ว่า “เพื่อไทย”-“ภูมิใจไทย”-“ประชาชน”
3 พรรคหลักที่หวังชิงชัยกันอย่างเต็มที่
“พ่อ-ลูก” จาก “เพื่อไทย” ก็ทำหน้าที่ผู้ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครในนามพรรคทั้งเหนือ-อีสาน เพราะทุกอย่างเป็นเกมที่ประมาทไม่ได้เป็นอันขาด
จึงต้องเก็บคะแนนทุกเม็ดเพื่อความมั่นใจ
“เพื่อไทย” ประกาศไว้แล้วต้องได้ 200 เสียงขึ้นไป “ประชาชน” ก็บอกว่าต้องได้ 270 เสียง “ภูมิใจไทย” โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคขอ 251 เสียงขึ้นไป
เป็นตัวเลขที่แต่ละพรรคคาดหวังจะได้มากน้อยต่างกันก็เพราะต่างก็เห็นว่าตัวเลขแค่ไหนถึงจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล
ก็เป็นเรื่องหนึ่งในเกมสัประยุทธ์!
อีกเกมที่ซ้อนๆกันอยู่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนยืนธงนี้มาตั้งแต่ไก่โห่เพราะอย่างหนึ่งเป็นแนวทางของพรรคที่หาเสียงเอาไว้
แน่นอนว่าพรรคนี้ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เขียนโดยประชาชนคือการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่าง
เป้าหมายก็มีหลายอย่างไม่ใช่แค่เรื่อง “อุดมการณ์” เท่านั้น
ที่แทรกซ้อนเข้ามาด้วยก็ยังมีอีก 2 เรื่องที่พอจับไต๋ได้
1.แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์บวกด้วย ม.112 เพราะลำพังพรรคไม่สามารถทำได้จึงต้องอาศัย ส.ส.ร.เป็นฝ่ายดำเนินการ
2. คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับความผิดของนักการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เว้นวรรคการเมืองเนื่องจากถูกคดี “ยุบพรรค”
...
ทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรค “อนาคตใหม่”-“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค “ก้าวไกล” และอีกหลายคนที่ไม่สามารถอยู่ในสนามได้
และอีกอย่างก็คืออำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเห็นว่าไม่ควรมีอำนาจตัดสินหรือพิพากษานักการเมือง
แต่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาซึ่งมาจากประชาชน...
ด้วยแนวคิดและทิศทางเหล่านี้จึงไม่ต้องแปลกใจที่เครือข่าย “สีน้ำเงิน” โดยเฉพาะ สว.ในสังกัดจะต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุดก็เพราะ
1.อุดมการณ์ของค่ายนี้คือปกป้อง “สถาบัน” ทุกรูปแบบห้ามแตะต้องห้ามแก้ไขซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนและหวังว่า “ภูมิใจไทย” จะเป็นพรรคที่ถือธงนำพรรคแนวอนุรักษนิยม
เหนือกว่า “เพื่อไทย” ที่ไม่ 100%...
2.การดำรงอยู่ของ สว.ชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกกันของกลุ่มวิชาชีพต่างๆที่จะต้องทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ
เพราะต้องทำหน้าที่สำคัญอย่างคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและยังแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ
เพราะนี่คืออำนาจเหนืออำนาจที่ “ภูมิใจไทย” ใช้เป็นดุลการเมืองต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นๆได้อย่างเช่นปัจจุบัน
ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน
อย่างที่พรรคประชาชนลิงโลดใจว่าจะมีการพิจารณาเรื่องการลงมติเพื่อทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ใช่ 3 ครั้งได้
ทำให้ระยะเวลาสั้นลงจนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน
พูดง่ายๆว่าสภาผู้แทนฯจะว่ายังไงก็ตาม
แต่ถ้า สว.ไม่เอาด้วยทุกอย่างก็จบ!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม