อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจดังกล่าว โดยเฉพาะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เอื้อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ที่เรียกกันว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งป็นต้นเหตุการคอร์รัปชัน
โดยเฉพาะญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ สส. 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล หรือทั้งคณะได้ นับเป็นอาวุธหนักที่สุดของฝ่ายค้าน เพราะสามารถตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงให้นายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรี มาชี้แจงในประเด็นที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
กรณีนายกฯผ่านญัตติซักฟอก แต่ได้เสียงไว้วางใจไม่เกินกึ่งหนึ่งของ สส. ทั้งสภาฯ อาจมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม จนทำให้นายกฯตัดสินใจลาออกก็ได้ หรือกรณีรัฐมนตรีถูกโหวตไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ทั้งสองกรณีมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะรัฐบาลมี สส.ข้างมากในสภาฯเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว
หากกระบวนการตรวจสอบซักฟอกทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศโปร่งใส รับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น นับเป็นจังหวะดีที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาชน ประกาศจะยื่นญัตติซักฟอกรัฐบาลไม่เกินเดือน เม.ย.68 คงได้เห็นฝีมืออภิปรายเข้มข้น ข้อมูลแน่นแค่ไหน
อย่างน้อยได้โหมโรงล่วงหน้า รัฐบาลบริหารมาปีกว่าจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านตามตรวจสอบ อาทิ ดำเนินนโยบายผิดพลาด ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าฝ่ายค้านมีใบเสร็จโยงไปถึงตัวรัฐมนตรี หากนายกฯไม่ดำเนินการใดๆ รัฐบาลคงอยู่ยาก
แต่ผลลัพธ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกือบทุกครั้ง ไม่สามารถเปลี่ยน แปลงรัฐบาลหรือเอารัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ ยกเว้นรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไว้วางใจต่ำสุด พรรคต้นสังกัดมีโอกาสปรับออกเพื่อลดแรงเสียดทาน ซึ่งก็จะเป็นการลดทอนกระแสพรรคแกนนำรัฐบาลช่วยเพิ่มความนิยมให้ฝ่ายค้านพรรคประชาชน
...
แต่สมรภูมินิติสงครามปี 2568 กรณีคดีจริยธรรมร้ายแรง 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำพรรคประชาชนหลายคนรวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน ขณะนี้คณะอนุฯไต่สวนข้อเท็จจริง ตั้งแท่นสรุปสำนวนเดือน ม.ค.นี้ เพื่อเสนอ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ แม้ตัดสินเป็นรายบุคคล ไม่เหมาเข่ง
แต่ก็มีโอกาสจะสะเทือนกระบวนการตรวจสอบรัฐบาล.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม