ขอแสดงความยินดีกับคนไทยประมาณ 50 ล้านคนจากทั่วประเทศที่จะได้รับเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตอย่างแน่นอน ถ้าเป็นผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 7 หมื่นบาท หรือมีเงินเก็บไม่เกิน 5 แสนบาท แต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และคณะขอเวลาอีกราว 5 เดือนครึ่งจึงจะได้รับเงิน

รวมเป็นเงินทั้งหมดที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในโครงการมหาประชานิยมนี้ถึง 5 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรีและคณะจากกระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่เรียกว่าเงินกู้ แต่จะเป็นเงินที่มาจาก 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งได้จากงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ส่วนที่สองเป็นงบที่ ธ.ก.ส.ดูแลเกษตรกร 1.75 แสนล้านบาท

ส่วนที่สามเป็นงบจากปีงบประมาณ 2567 กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐบาลไม่ต้องขอให้รัฐสภาออก พ.ร.ก.กู้เงิน ส่วนที่มาจาก ธ.ก.ส.ก็ไม่ใช่เงินกู้ เพราะ ธ.ก.ส. เพียงแต่จ่ายให้ก่อน รัฐบาลมีเงินเมื่อไหร่จึงนำมาคืน เรื่องนี้คนส่วนใหญ่อาจจะหายตื่นเต้นดีใจไปบ้าง เพราะต้องใช้เวลารอคอยแรมปี

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านทางวีดิทัศน์ ต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบาย “โคตรใหญ่” ไม่ใช่ใหม่ธรรมดา แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่าไม่น่าจะโคตรใหม่ เพราะเป็นแนวความคิดของศาสตราจารย์ชื่อดังชาวอังกฤษ

นั่นก็คือ ศ.จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบิดจ์ ที่เขียนตำราเศรษฐศาสตร์ที่โด่งดัง ตั้งแต่ปี 2479 เกือบจะ 20 ปีมาแล้ว ระบุทฤษฎีสำคัญว่าถ้าเศรษฐกิจตกตํ่า ผู้คนว่างงาน ให้รัฐบาลนำเงินออกมาทุ่มใช้จ่ายในภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีงานทำ และมีรายได้

ทฤษฎี “เงินผัน” ของ “พ่อใหญ่คึกฤทธิ์” แห่งพรรคกิจสังคมเชื่อว่าได้แนวทางมาจาก ศ.เคนส์ นั่นก็คือการนำเงินของรัฐออกมาจ้างประชาชนให้ทำงานตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น ขุดบ่อนํ้า สร้างถนนเข้าหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้ตามนโยบายเงินผัน ประกันราคาพืช

...

ต่อด้วย “สร้างสภาตำบล คนจนรักษาฟรี” แต่การแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่าอาจหมุนเงินในระบบได้ 0.0-0.9 รอบ จากการวัดตัวทวีคูณทางการคลัง แสดงว่าประสิทธิภาพไม่ค่อยดี ถ้าประสิทธิภาพดีต้องหมุนได้มากกว่า 1 รอบ หรือมากกว่า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม