ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านอาจเกิดวิวาทะกันในระหว่างอภิปรายทั่วไป ตามญัตติของฝ่ายค้านในวันที่ 3-4 เมษายน นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ขู่ดักคอล่วงหน้า หากเมื่อไหร่ฝ่ายค้านแตกประเด็นหรือลํ้าเส้นพรรคเพื่อไทยไม่ยอมแน่ ถ้าเน้นการอภิปรายพาดพิงถึงคนนอก ประธานสภาจะต้องควบคุม

“คนนอก” ที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเกรงว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายพาดพิงได้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อาจเปิดประเด็นโต้เถียงกันได้ ทั้งสองคนเป็น “คนนอก” จริงหรือ อย่างนายทักษิณเคยเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลขณะนี้ถูกกล่าวหาช่วยให้นายทักษิณพ้นโทษ

ส่วน น.ส.แพทองธารหรือ “อุ๊งอิ๊งค์” ไม่ต้องสงสัย เป็นบุคคลสาธารณะพันเปอร์เซ็นต์ เป็นนักการเมืองเต็มตัว เป็นถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำของรัฐบาล แม้จะไม่ได้เป็น สส. แต่มีอำนาจและบารมีในพรรคได้ เป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ทั้งยังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มีบทบาทให้รัฐบาล

น.ส.แพทองธารเป็นรองคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ มีอำนาจกำหนดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน เพื่อดำเนินโครงการทั่วประเทศ รวมทั้งการใช้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือผลลบ

พรรคเพื่อไทยอาจกลัวว่าฝ่าย ค้านจะฉวยโอกาสเปิดโจมตีรัฐบาลโจมตีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกลายเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ตรงไหน เพราะการเปิดอภิปรายตามมาตรา151 กับ 152 รัฐธรรมนูญถือเป็น “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป” เป็นการอภิปราย ครม.เหมือนกัน

ต่างกันแค่การอภิปรายตาม ม.151 เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ส่วนการอภิปรายตาม ม.152 เป็นการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ การอภิปรายตาม ม.152 ไม่ใช่การตั้ง กระทู้ถามรัฐมนตรี ตามมาตรา 150

...

จึงไม่ถูกห้ามซักถามนอกประเด็น ทั้งหมดนี้เป็นการตรวจสอบแตะถ่วงดุลอำนาจของประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ถ้าลงมติรัฐบาลจะต้องชนะ เพราะคุมเสียงข้างมาก แต่ฝ่ายค้านอาจชนะนอกสภาได้ เช่นชนะใจประชาชน หรือข้อมูลที่อภิปรายอาจถูกร้องต่อศาล ผู้ถูกร้องอาจพ้นทั้ง สส. ทั้งรัฐมนตรี.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม