วันพรุ่งนี้แล้วครับ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นวันลุ้นระทึก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย”  เวลา 09.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เพื่อ “พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ตามมติเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่งกว่า 14 ล้านเสียง ส.ส. 151 คน

8 พรรคร่วมรัฐบาล มี ส.ส.รวมกัน 312 เสียง เกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ 500 คน

แต่การโหวตเลือกนายกฯครั้งนี้ กลับมี “กลไกกับดัก” ที่ รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.ฝังเอาไว้เพื่อสืบทอดอำนาจคือ ให้ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน มีอำนาจเลือกนายกฯด้วย ทั้งที่เป็นสภาแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าการโหวตครั้งแรก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ไม่ถึง 376 เสียง (รวมเสียง ส.ว.ด้วย) เบื้องต้นประธานรัฐสภากำหนดให้มีการโหวตครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 และ 20 กรกฎาคม

ส่วนตัวผมคาดว่า คุณพิธาอาจจะได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคมเลย โหวตครั้งเดียวจบ ไม่ต้องไปโหวตครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 อีก

เหตุผลก็คือ ส.ว.มี 250 คน แต่คนที่ออกมาคัดค้านมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส.ว.ส่วนใหญ่อีก 200 กว่าคนกลับเงียบไม่ได้พูดอะไรเลย ส.ว.บางท่านประกาศอย่างเปิดเผยเลยว่าใจะโหวตตามเสียงของประชาชน เช่น คุณ วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์  อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่า จะขอน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันเปิดประชุมรัฐสภามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

...

“...ประเทศชาติ จะมีความเจริญเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถและความสุจริตบริสุทธิ์ของท่านที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวง โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ  และประชาชน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด...”

ส.ว.วุฒิพันธุ์  ยังได้ สั่งสอน ส.ว.  ที่ออกมาต่อต้านเสียงของประชาชนว่า

การแสดงความคิดเห็นในลักษณะ รณรงค์ต่อต้าน ขัดขวาง  การขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคคลบางคน ด้วยการสร้างมายาคติ บนความอคติ  โดยก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่น่าจะเป็นการกระทำที่เหมาะควรอย่างยิ่ง  ความเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักอำนาจอธิปไตย พึงต้องตระหนักในเกียรติภูมิแห่งความเป็นสมาชิกรัฐสภา  และพึงต้องระมัดระวัง ไม่กระทำการใดๆที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ว่าด้วย “สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ” หรือ มาตรา 114 ว่าด้วย “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ  ก็เป็น ส.ว.อีกท่านหนึ่งที่ออกมาแสดงจุดยืนการโหวตนายกฯว่า จะใช้เหตุผลตามการเลือกตั้งปี 2562 เลือกคนที่พรรคการเมืองที่รวมตัวกันเกินครึ่งเสนอเป็นนายกฯ โดยให้สัมภาษณ์ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า การนำเหตุผลเรื่อง 112 หรือเรื่องอื่นๆมาพูด มันเป็นคนละเรื่องกับการเข้าสู่นายกรัฐมนตรี การทำกฎหมายก็ต้องว่าไปตามระบบกฎหมายคือรัฐสภา ตอนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯในปี 2562 เราก็ไม่ได้ไปแคะเหตุผลอะไรมากมายเลย

ฟังเสียง ส.ว. ที่เป็นพลังเงียบ แบบนี้แล้ว ก็เป็นไปได้สูงว่า พลังเงียบ ส.ว. 200 กว่าเสียง อาจจะ เลือกคุณพิธาเป็นนายกฯแบบม้วนเดียวจบก็ได้ ประเทศไทยจะได้เดินหน้าต่อไปเสียที เสียเวลาไปกับ ส.ว.ลากตั้งมา 4 ปีกว่าแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”