นิทานพื้นบ้าน เรื่องยายกะตา แม่เล่าให้ฟังตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็สนุกไปตามประสาเด็กๆโตขึ้นมาจนเป็นปู่ตา ลองเล่าให้ลูกๆหลานๆฟัง ครั้งนี้ชักไม่แน่ใจ นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า...อะไรกันแน่?

เนื้อหาและลีลาเรื่องนี้ผมเอามาจากหนังสือนิทานพื้นบ้านไทย...สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พิมพ์ตั้งแต่ปี 2536 ลองอ่านทบทวนความจำอีกสักครั้ง

กาลครั้งหนึ่ง ยังมียายกับตาปลูกถั่วปลูกงาไว้ในไร่ ยายกับตากลัวอีกาจะมากินถั่วกินงา จึงสั่งให้หลานชายคอยเฝ้า อยู่มาวันหนึ่ง หลานออกไปเดินเล่นนอกไร่ ทิ้งไร่ถั่วไร่งาไว้

อีกาที่แอบอยู่บนต้นโพธิ์ ก็ลงมากินเมล็ดถั่วเมล็ดงา ไปเจ็ดเมล็ด เจ็ดทะนาน

เมื่อยายรู้เรื่อง ยายก็ด่า เมื่อตามา ตาก็ตี

หลานชายร้องไห้ไปหานายพราน หนูโดนยายด่าโดนตาตี เพราะปล่อยให้อีกามาลักถั่วลักงา นายพรานช่วยไปยิงอีกา เอาถั่วเอางามาคืนให้หนูหน่อยซี!

วิงวอนจนอ่อนใจ นายพรานก็ไม่ยอมไปยิงอีกา หลานชาย จึงไปหาหนู ขอร้องให้หนูไปกัดธนูของนายพราน หนูบอกว่าธุระไม่ใช่

หลานชายไปหาแมว อ้อนวอนให้ไปกัดหนู แมวสั่นหน้าบอกว่าเบื่อกัดหนู หลานชายไปหาหมา ขอร้องให้ไปกัดแมว หมาบอกว่าไม่ใช่ธุระอะไรของตัวเอง

ไม่มีใครสนใจไยดี หลานชายโมโห ไปหาค้อนขอร้องค้อนให้ไปแยงหูหมา ค้อนไม่ยอมไป หลานชายผิดหวังจากค้อน จึงไปหาไฟ ขอร้องให้มาเผาค้อน ไฟอ้างว่าค้อนไม่เคยทำผิดคิดร้าย จะไปเผาค้อนได้อย่างไร

หลานชายแค้นไฟไม่ช่วย จึงไปท่าน้ำ อ้อนวอนน้ำให้ไปช่วยดับไฟ น้ำก็ไม่ยอมดับไฟให้ หลานชายจึงไปบอกตลิ่งให้พังลงไปทับน้ำ ตลิ่งไม่ยอมทำตาม บอกว่าน้ำเขาอยู่ของเขาดีๆ

หลานชายไม่ละความพยายาม ไปหาช้าง ขอให้ช้างมาพังตลิ่งทับน้ำ ช้างบอกว่ามีงานต้องทำติดพัน

ไปหาใครก็ถูกปฏิเสธ หลานชายหมดกำลังใจ หยุดพักนั่งใต้ต้นไม้ ยังนึกไม่ออกจะทำยังไงต่อ พอดีแมลงหวี่ตัวหนึ่ง ก็บินเสียงหึ่งมาวนเวียนใกล้ตัว หลานชายจึงคิดแผนไม้ตาย แผนสุดท้าย

...

หลานชายใช้ความว่องไว ไล่จับแมลงหวี่ไว้ในมือ ขู่แมลงหวี่ จะบี้ให้ตาย ถ้าไม่ยอมไปตอมตาช้าง แมลงหวี่กลัวตาย แลกชีวิตด้วยการไปตอมตาช้าง

ช้างทนแมลงหวี่ตอมตาไม่ไหว ก็ไปพังตลิ่ง ตลิ่งก็ไปทับน้ำ น้ำก็ไปดับไฟ ไฟก็ไปไหม้ไม้ค้อน ค้อนก็ไปแยงหูหมา หมาก็ไปกัดแมว แมวก็ไปกัดหนู หนูก็ไปกัดสายธนูนายพราน

นายพรานเห็นท่าไม่ดี จึงยอมไปยิงอีกา

อีกาเห็นท่านายพรานจะยิง ก็ยอมคืนถั่วงาที่ขโมยไปเจ็ดเมล็ดเจ็ดทะนาน หลานก็ได้ถั่วงาไปคืนตาคืนยาย ตายายก็หายโกรธยอมยกโทษให้หลาน

นับแต่นั้น หลานก็ตั้งใจเฝ้าไร่ถั่วไร่งา ยายตากับหลานก็อยู่กันอย่างมีความสุข

แง่คิดใหม่ ที่ผมเพิ่งได้จากนิทานเรื่องยายกะตา...แนวของเรื่องสอนให้รู้จักสิ่งที่สัมพันธ์กัน แม้ไม่ใช่สัมพันธ์กับตามเหตุปัจจัย

แบบอิทัปปัจจยตา (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี...เสียทีเดียว)

จุดพลิกผันของเรื่อง...อยู่ที่ เมื่อขอกันดีๆ ไม่ได้ เรื่องมันก็ต้องใช้กำลังบังคับ หลานจึงตั้งท่าจะบี้แมลงหวี่

ความจริงเรื่องราวในโลก เริ่มต้นกันเช่นนี้ แต่ตอนจบ ไม่แน่ว่าจะจบลงแบบตายายกับหลานจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข...ไปเสียทุกเรื่อง

ใช้คนมากๆไปบังคับเขา ถ้าเจอนักเลงโตเขาไม่เล่นด้วย งัดรถถังออกมาวิ่ง งัดปืนออกมาโป้งป้าง...ไม่เห็นบ้างหรือไง? พม่าเป็นตัวอย่างอยู่ใกล้ๆ.

กิเลน ประลองเชิง