สมมติฐานที่อธิบายสาเหตุของ “ตับอักเสบปริศนา” ใน “เด็ก” นี้น่าสนใจครับ ด้วยข้อมูลที่ว่า...ไวรัส SARS-CoV-2 สามารถติดเซลล์ในระบบทางเดินอาหาร และยังสามารถพบซากเชื้อหรือโปรตีนของไวรัสได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังจากหายแล้ว

ถัดมา...โปรตีนของไวรัส SARS-CoV-2 โดยเฉพาะโปรตีนหนามสไปค์ มีบางส่วนที่มีคุณสมบัติเป็น “Superantigen” คือ ไปกระตุ้น “T cell” แบบมากเกินธรรมชาติ เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบแบบรุนแรงได้

แต่ Superantigen นั้น ปกติจะไม่มีผลอะไรที่ต่อโฮสต์ชัดเจน จนกระทั่งมีการติดเชื้อไวรัสอื่นร่วม โดยเฉพาะ “Adenovirus”...ไวรัสตัวร้าย ที่ทำลายระบบของร่างกายไปเหนี่ยวนำให้ Superantigen ดังกล่าวในระบบ ทางเดินอาหารของเด็กถูกกระตุ้นขึ้นมา ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบ

ข้อมูลวิชาการใช้คำว่า “potentiate” ซึ่งหมายถึง ทำให้รุนแรงขึ้น ประเด็นที่ยังไม่ชัดจากคำให้สัมภาษณ์คือทำไม? เพิ่งมาพบอาการปริศนาช่วงนี้ ซึ่งทำให้คิดต่อไปได้ว่า Superantigen ดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับโอมิครอน โดยสายพันธุ์เก่าก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่มี...เป็นสมมติฐานที่น่าสนใจ

...

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา สวทช. โพสต์แสดงความ คิดเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมเสริมความรู้เชื่อมโยง ถึงสมมติฐานล่าสุดที่ผู้เชี่ยวชาญของ UK รวบรวม

เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปรากฏการณ์ตับอักเสบปริศนาในเด็กเล็ก ที่ไม่ได้ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ A-E และมีแนวโน้มที่พบเคสลักษณะนี้ ในหลายประเทศ ประเด็นคือ ทั้งหมดยังเป็นสมมติฐานที่เป็นไปได้ที่อ้างอิง จากข้อเท็จจริง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่อธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงได้

สรุปสมมติฐานเป็น 6 ข้อใหญ่ๆคือ ข้อหนึ่ง...เกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus สายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไป (ข้อมูลล่าสุดชี้ไปที่ Adenovirus 41) แต่การติดเชื้อไวรัสที่ปกติ ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ มีอาการตับอักเสบรุนแรง เนื่องจากการตอบสนองของโฮสต์ต่อการติดเชื้อ ของไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไป

เช่น การ lockdown ป้องกัน...ไม่ได้มีโอกาสให้ไปรับเชื้อตามธรรมชาติ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันที่ควรได้จากธรรมชาติมีไม่มากพอ หรือการไปติดไวรัสโรคโควิดแล้วทำให้ภูมิผิดปกติหลังจากหาย ทำให้การติดเชื้อ Adenovirus รุนแรงกว่าปกติหรือเป็นอาการที่เด็กไปติด Adenovirus พร้อมๆกับ SARS-CoV-2

ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าปกติหรือปัจจัยอื่นๆ เช่น มลพิษ สารพิษ หรืออะไรที่ทำให้เด็กติดเชื้อ Adenovirus ได้ง่ายและมีอาการรุนแรงขึ้น

ข้อสอง...เกิดจากการติดเชื้อ Adenovirus สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบ ในประชากรเด็กมาก่อน โดยอาจจะมีปัจจัยร่วมเหมือนกรณีที่หนึ่งด้วยก็ได้ ข้อสาม...เป็นอาการที่เป็นผลสืบเนื่องจากที่เด็กติด SARS-CoV-2 มา หรือเป็นหนึ่งของอาการลองโควิด (Long COVID) และเนื่องจากเพิ่งมาพบมากในช่วงโอมิครอนระบาด จึงอาจเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นอาการที่จำเพาะต่อการติดเชื้อ “โอมิครอนในเด็ก”

ข้อที่สี่...เป็นผลจากปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค แต่เป็นยา สารพิษ มลพิษต่างๆ ข้อที่ห้า... เกิดจากการติดเชื้อที่ยังไม่มีการค้นพบว่าเป็นเชื้ออะไรที่อาจจะเป็นการติดเชื้อดังกล่าวโดยตรง หรือไปติดร่วมกับเชื้อโรคตัวอื่นๆ ข้อที่หก...เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ไปจนแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งตำแหน่งกลายพันธุ์นั้นอาจทำให้ไวรัสเข้าทำลายตับได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ

“ในขณะที่สาเหตุของอาการตับอักเสบปริศนาในเด็กยังไม่มีข้อยุติ เคสก็มีมากขึ้นเรื่อยๆและพบในหลายประเทศแล้ว จุดยากคือ ถ้ายังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน การป้องกันจะไม่สามารถทำได้เลย...”

ทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า “BA.1” และ “BA.2” เหมือนกันแค่ชื่อว่าเป็น “ครอบครัวโอมิครอน” เหมือนกัน ก่อนหน้านี้มีข้อมูลออกมา บอกว่า ภูมิจากการติด BA.1 ไม่พอยับยั้ง BA.2 วันนี้มีข้อมูลมายืนยันเพิ่ม ครับว่า คนที่ติด BA.2 มา...ก็มีแต่ภูมิป้องกันตัวเอง แต่ไม่เพียงพอที่จะไป ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ

“ขนาด BA.1 ที่เป็นตระกูลโอมิครอนเหมือนกัน ภูมิก็ขึ้นมาไม่แตกต่าง หรืออาจจะน้อยกว่าภูมิที่ยับยั้งสายพันธุ์เก่าๆก่อนหน้านี้ซะอีก แสดงว่า BA.1 กับ BA.2 จริงๆห่างกันมากเกินกว่าที่จะใช้นามสกุลว่า โอมิครอน เหมือนกันมานานแล้ว”

ที่น่าสนใจคือ “ภูมิ” จากไวรัสสายพันธุ์ก่อนช่วงโอมิครอน ถึงแม้ว่า จะมีนามสกุลที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะ D 614 G, Alpha, Delta, Beta, Gamma จะมีความใกล้ชิดกันมากกว่าโอมิครอน 2 สายพันธุ์ดังกล่าวด้วยซ้ำ

เห็นได้จากข้อมูลที่ว่า ภูมิจากการติดเชื้อระลอก (Wave) แรก ดูจะ เพียงพอในการยับยั้งไวรัสทุกตระกูลก่อนโอมิครอน แต่ถูก BA.1 หนีได้ มากสุด และรองลงมาเป็น BA.2 ซึ่งสามารถอนุมานคร่าวๆได้ว่า “BA.2” อยู่ระหว่าง “BA.1” กับ “กลุ่มสายพันธุ์เก่า” ในเรื่องของความสามารถของภูมิที่กระตุ้นมายับยั้งไวรัสได้

แต่ประเด็นคือ ตอนนี้ “BA.2” แตกกิ่งออกไปอีกมากมายนับตัวเลขตามไม่ทัน รวมถึง BA.4 BA.5 ที่แตกออกมาจาก BA.2 อีกที ภูมิที่จะมากพอที่จะยับยั้ง BA.2 ตัวใหม่ๆ ก็จะห่างไปเรื่อยๆจากสายพันธุ์เดิม

ดังนั้น...ระยะที่บอกว่า BA.2 ใกล้วัคซีนที่สร้างมาจากสายพันธุ์เดิม มากกว่า BA.1 อาจจะไม่ใช่ในอนาคต เพราะยิ่งนานวัน BA.2 ตัวใหม่ๆ ก็จะหนีภูมิห่างจากภูมิเดิมไปเรื่อยๆ ไม่มีเหตุผลที่ไวรัสจะปรับตัวย้อน กลับให้ภูมิที่มีมายับยั้งได้...เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลยครับ

เพราะเหมือนเจอช่องทางที่ให้ตัวเอง “อยู่รอด” ต่อไปใน “โฮสต์”

ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านมา สามารถช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต่อการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคตแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจครับ

ทีมวิจัยของ University of Glasgow ได้นำตัวอย่างซีรั่มของผู้ป่วยในระลอกการระบาดต่างๆมาทดสอบเปรียบเทียบกัน โดยมีทั้งคนที่ติดสายพันธุ์ Wuhan, Alpha, Delta และหายจากโควิดแล้ว ในเวฟต่างๆแล้วไปฉีดวัคซีน เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถช่วยในการกระตุ้นภูมิให้มากขึ้นอย่างไร โดยใช้ซีรั่มไปตรวจหาแอนติบอดี

ทีมวิจัยพบว่า ผลเป็นไปตามคาดคือ ภูมิที่ได้จากการติดสายพันธุ์ ไหนมา ก็จะมีแอนติบอดีไปยับยั้งสายพันธุ์นั้นได้ดีที่สุด แต่ภูมิจากการติดเชื้อแบบไม่ได้กระตุ้นด้วยวัคซีน ไม่สามารถยับยั้งโอมิครอนได้เลยไม่ว่าตัวอย่างนั้นจะไปติดสายพันธุ์ไหนมาในอดีต แต่ถ้าภูมิจากธรรมชาติดังกล่าวถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนจะสามารถมีภูมิขึ้นมายับยั้งโอมิครอนได้ โดยภูมิจากการติดเชื้อ Wuhan และ Delta ดูเหมือนจะถูกกระตุ้นจาก วัคซีน เพื่อสร้างแอนติบอดียับยั้งโอมิครอนได้ดีกว่าภูมิที่ไปติด Alpha มา ซึ่งน่าสนใจว่า Alpha เป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ใหม่กว่า

แต่...การกระตุ้นภูมิต่อสายพันธุ์ที่ต่างออกไปอย่างโอมิครอนอาจจะดูจากเวลาที่มีการติดเชื้ออย่างเดียวไม่ได้

ถึงตรงนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา สวทช. ฝากทิ้งท้ายว่า ติดโควิดแต่ละสายพันธุ์อาจจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการลองโควิดไม่เท่ากันซะทีเดียวครับ ข้อมูลที่พบดูเหมือนว่าสายพันธุ์ BA.2 จะสามารถทำให้ผู้ป่วยโควิดมีอาการลองโควิดได้มากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ ก่อนหน้าและเดลตา

ข่าวไม่ค่อยดีคือ ตอนนี้สายพันธุ์ที่ครองพื้นที่อยู่คือ “BA.2” และตัวใหม่ๆที่จะมาแทนที่ก็มีฐานมาจาก BA.2 เหมือนกัน ซึ่งไม่คิดว่าจะลดความเสี่ยงลองโควิดลง ป้องกันอย่าให้ติด BA.2 ดีที่สุดครับผม.