คำว่า “กาลเทศะ” นั้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านให้อ่านว่า “กาละเทศะ” และให้ความหมายไว้ว่า “ความควร ไม่ควร”
เป็นคำโบราณเคียงคู่ประเทศไทยมานานมาก อย่างน้อยก็ต้องไม่ตํ่ากว่า 70 ปี เพราะพอเริ่มจำความได้ตอนอายุ 7-8 ขวบ ผมก็ได้ยินผู้ใหญ่ท่านสอนแล้วว่า “เอ็งจะทำอะไรต้องรู้จักกาลเทศะนะเว้ยไอ้หนู”
ผมไม่แน่ใจว่าการทำอะไรแบบรู้จักกาลเทศะเป็นกฎข้อหนึ่งใน “สมบัติผู้ดี” หรือไม่ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า ใครก็ตามที่ชอบทำอะไรแบบไม่รู้จักกาลเทศะ มักถูกตำหนิอยู่เสมอ
เพราะสิ่งที่เขาทำลงไปซึ่งไม่เหมาะสมกับกาลเวลาหรือสถานที่นั้นๆ อาจนำไปสู่ความเสียหายที่คาดไม่ถึงได้ในที่สุด
ดังเช่น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกลุ่มหนึ่งที่กำลังกดดันจะให้มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคถึงขั้นมีข่าวว่ากรรมการบริหารพรรคยื่นใบลาออกถึง 18 คน ซึ่งเกินกึ่งของกรรมการบริหารทั้งหมด อันเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งก็คงจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ และเลขาธิการพรรคคนใหม่ตามมา
นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคพลังประชารัฐตามที่มีข่าวมาตลอดตั้งแต่ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่เข้าสู่ การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสียด้วยซํ้า
เป็นเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วไป และเป็นที่มาของการกล่าวหาว่านักการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะ 18 รายที่ลงชื่อลาออกจากกรรมการบริหารพรรคได้กระทำการลงไปใน แบบไม่รู้จัก “กาลเทศะ” เอาเสียเลย
...
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า โลกเราทั้งโลกตกอยู่ภายใต้วิกฤติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สูญเสียทั้งชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวง
ประเทศไทยเราเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน...การพยากรณ์ของทุกสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวไม่ตํ่ากว่าร้อยละ 5 หรือ 6 และจะทำให้คนไทยว่างงานไม่ตํ่ากว่า 7 ล้านคน ไปจนถึง 9 ล้านคน
ด้วยปัญหาอันหนักหน่วงของชาติที่รออยู่เช่นนี้ ทุกๆฝ่ายในประเทศควรจะได้สมัครสมานสามัคคีกัน ร่วมมือประสานงานกัน เพื่อช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับคืนมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะถือธงนำหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆเพื่อให้ภาคเอกชนที่จะเคลื่อนไปตามรัฐบาลนั้น บังเกิดความมั่นใจพร้อมจะเดินตามด้วยการลงทุนตามความสามารถของแต่ละฝ่าย
นี่ท่านกลับมาแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งและออกมาดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอาจจะเปลี่ยนในส่วนของกลุ่มรัฐมนตรีที่จะเป็นกำลังหลักในการดูแลบริหารเศรษฐกิจเสียด้วย
ขวัญของภาคเอกชนและประชาชนที่กำลังหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินตามแนวทางที่บิ๊กตู่กับทีมเศรษฐกิจของท่านริเริ่มไว้จะไม่กระเจิงกันไปหมดหรือครับ?
ถึงได้บอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทำในห้วงเวลานี้เลยจริงๆ
ทำให้เสียบรรยากาศกันไปหมด แม้แต่กองเชียร์ข้างเวทีอย่างผมซึ่งตั้งใจว่าจะใช้คอลัมน์นี้คอยเขียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวไทยให้กัดฟันสู้...เขียนเชียร์นักรบเศรษฐกิจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนให้จับมือกัน สู้...ให้ถึงที่สุด อย่าให้แพ้ “นักรบเสื้อกาวน์” ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมาก
ก็ยังพลอยอ่อนระโหยโรยแรง ไม่อยากจะส่งเสียงเชียร์เอาดื้อๆ
แต่ก็เอาเถอะ คงต้องดูกันต่อไปว่าการดำเนินการอย่างไม่รู้กาลเทศะของนักการเมืองกลุ่มนี้จะมีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่
ก็ฝากบิ๊กตู่ไว้ด้วยในฐานะที่ท่านเป็นผู้กุมอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างๆอยู่ในมือ...ขอให้ท่านใช้ดุลพินิจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ไม่เปลี่ยนเลยดีที่สุด แต่ถ้าเปลี่ยนต้องเป็นบุคคลที่เหมาะสม ประชาชนรับได้ ภาคเอกชนพร้อมเดินตามได้ ไม่งั้นไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มีแน่นอนครับสำหรับเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วงมากๆในขณะนี้.
“ซูม”