ในรอบ 20 ปีประเทศไทยฝ่ามรสุมมาหลายลูก
อาทิ วิกฤติต้มยำกุ้ง โรคซาร์ส ไข้หวัดนก
สามารถผ่านพ้นได้ และเศรษฐกิจของประเทศมีขึ้น-มีลง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดใจต่อ ทีมข่าวการเมือง ถึงการรับมือปัจจัยเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยชี้ให้เห็นถึงวิกฤติต่างๆก่อนหน้านี้หนักแค่ไหนก็ผ่านได้ ที่สำคัญต้องอดทน มีสติ
วันนี้ใครจะไปคิดว่าประเทศไทยเผชิญมรสุมหลายลูกในเวลาเดียวกัน
เริ่มตั้งแต่นักธุรกิจบ่นค่าเงินบาทแข็งเกินไป รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้อง
ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ดูแล
รัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่ได้ส่งสัญญาณไปตลอดเวลาถึง ธปท.ว่า จะต้องบริหารจัดการดูแลค่าเงินบาทให้ประเทศไทยแข่งขันได้ หากค่าเงินแข็งเกินไปย่อมกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว-ภาคเกษตร เป็นต้น
เชื่อมั่น ธปท.ดูแลและบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังและเหมาะสมกับสถานการณ์
ขณะเดียวกันสงครามการค้าหรือเทรดวอร์ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั้งโลกได้รับผลกระทบถ้วนหน้า รวมถึงประเทศไทย เพราะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของสินค้าที่โดนเข้าเต็มๆ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ การผลิต การจัดเก็บ เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดจำหน่าย การขนส่ง ตั้งแต่ก่อนและหลังการผลิตจนไปถึงมือผู้บริโภค
เทรดวอร์ยังไม่ทันจบ การลงทุนภายในประเทศก็ไม่กระเตื้อง ในภาวะที่คนตื่นตระหนกและกังวล เพราะคนไทยด้วยกันเองยังขาดความเชื่อมั่น จึงผลักดันให้กระทรวงการคลังออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยสร้างแรงจูงใจเล็งไปที่นักลงทุนของไทย
สิ่งที่แปลกคือการลงทุนจากต่างประเทศดี เพราะประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง ทุกคนอยากเข้ามา การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
...
หวังในภาวะที่ต่างประเทศสนใจลงทุนในประเทศไทย ภาคเอกชนจะช่วยลงทุนในประเทศบ้าง เพื่อช่วยค้ำจุนผลกระทบจากการส่งออก
สิ่งที่สำคัญที่สุดทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 (ศาลรัฐธรรมนูญรับตีความกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส. ขอให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ตราขึ้นไม่ถูกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148)
เริ่มตั้งแต่ตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ตั้งงบประมาณช้า ปกติเดือน มี.ค.63 น่าจะมีผลบังคับใช้
สำนักงบประมาณจึงออกระเบียบให้เบิกจ่ายงบประจำได้ครึ่งหนึ่งของเกณฑ์ปี 62 ไปพลางก่อนถึงเดือน มี.ค.63 และงบลงทุนใช้ไม่ได้เลย แค่นี้ก็ฝืดเคืองอยู่แล้ว
และไตรมาส 1 จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะงบประมาณ 3 ล้านล้านกว่าบาทชะลอการใช้ ในจำนวนนี้มีงบลงทุนหลายแสนล้านบาท หากมีผลบังคับใช้ช้า เป็นห่วงและกังวลจะมีผลกระทบต่อเนื่อง
ขอบอกว่าอย่าเพิ่งไปตื่นตระหนก
ควรรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะออกมาอย่างไร แต่ไม่ประมาท
สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้เตรียมลู่ทางรองรับ เช่น สำนักงบประมาณเตรียมมาตรการรองรับ กรณีเดือน มี.ค.63 งบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ เกณฑ์การเบิกจ่ายใช้งบครึ่งหนึ่งของปี 62 ก็สามารถขยายออกไปได้ ขยายถึงเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับอำนาจสำนักงบประมาณ ขยายได้ทั้งกรอบเวลาและกรอบวงเงิน
ส่วนงบลงทุนที่ใช้ภายใน 1 ปี ได้เตรียมการเอาไว้เรียบร้อย โดยทำให้การลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นให้ได้ แต่ยังไม่ได้นำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผมไม่ได้บอกว่าจะกู้เงิน หากจำเป็นสามารถกู้ได้อยู่แล้ว เพื่อหล่อเลี้ยงให้การลงทุนเกิดขึ้นได้ก่อน เมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้สามารถนำมาใช้คืนได้
สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ได้หารือมาโดยตลอด
สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากไปโทษเป็นความผิดของใคร เมื่อเกิดขึ้นต้องช่วยกันแก้ไขให้การเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาโดยเร็ว
และยังได้คิดล่วงหน้า เช่น ถ้าเกิดกระบวนการประกาศใช้งบประมาณล่าช้า เรามีกลไกเพื่อให้เกิดสภาพคล่องไม่ให้เศรษฐกิจสะดุดมากจนเกินไป
หากกลไกของรัฐบาลไม่คล่องตัว จะใช้การลงทุนภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยเสริม
การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกุญแจใหญ่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด ใครจะไปคิดว่าวันนี้โรคไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดมีผลกระทบทั่วโลก
ฉะนั้นระยะสั้นไม่โฟกัสไปที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ต้องหันมามอง “ไทยเที่ยวไทย” เป็นสิ่งสำคัญ
จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการล่วงหน้า เพื่อชะลอผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศชั่วคราว และกำลังหามาตรการลดภาระ หรือลดรายจ่ายของประชาชน แต่ยังไม่บอกว่าเป็นอะไร
ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศควรดูแลอย่างดี เพื่อดึงดูดให้กลับมาเที่ยวใหม่
ที่สำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการควบคุมโรคนี้อย่างไรให้ได้ผลเชื่อมั่นระบบสาธารณสุขของเราควบคุมได้แน่ และเชื่อมั่นจีนจะควบคุมได้อย่างแน่นอน
ภาวะเช่นนี้คนไทยต้องสามัคคีผ่านมรสุมไปให้ได้
ตราบใดที่ร่วมพลังได้สำเร็จ ความเชื่อมั่นย่อมกลับมา
ความเชื่อมั่นยังไม่กลับมา เพราะความขัดแย้งทางการเมือง
ประชาชนจับตามองอยู่ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่ร่วมมือกัน
ใครอยากเป็นรัฐบาล เข้ามาตามครรลอง ไม่มีใครไปกีดกันได้
แต่ควรรู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาอะไรและคนไทยต้องการอะไร
ในภาวะบ้านเมืองเช่นนี้ ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่าน
อยากให้ผ่านไปด้วยดี ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน
ส่วนต่างประเทศจะกล่าวหาประเทศไทยอย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อความชอบธรรม เราไม่กลัวใครอยู่แล้ว กลัวอย่างเดียวทะเลาะกันเอง
ปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะมีกลุ่มเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ มีผลกระทบอย่างไรบ้าง นายสมคิด บอกว่า เป็นเรื่องปกติของการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
สุดท้ายทุกฝ่ายต้องหาจุดรวมที่ลงตัว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและมีผลต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร
นายสมคิด บอกว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านอภิปรายตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
รัฐบาลมีหน้าที่ตอบตามความเป็นจริง
การอภิปรายช่วยทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น
ไม่เป็นอุปสรรคของรัฐบาล อุปสรรคของรัฐบาลคือสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
การโจมตีหรือเขย่ารัฐบาล ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ตามหลักประชาธิปไตย
เมื่อเขย่าแล้ว ส.ส.ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ช่วยดูแลประเทศให้ผ่านไปได้
การปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ใช่อยู่แค่ในมือ ครม.
แต่รวมถึง ส.ส.ทุกคนด้วย
ฉะนั้นถึงเวลาสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน
เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย.
ทีมการเมือง