การเมือง 3 ขั้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย
อยู่ในช่วงการเปิดรับสมัคร ส.ส. ไปจนถึงวันที่ 8 ก.พ.62 นั่นเท่ากับจะได้รู้ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่คน เป็น ส.ส.เขตกี่คน ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน
ที่สำคัญก็คือจะรู้ตัวนายกฯที่จะส่งเข้าประกวด
ด้วยการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ให้กาบัตรเพียงใบเดียว แต่ใช้ได้ใน 3 วาระดังที่กล่าวมาแล้ว โดยมี ส.ส.เขตจำนวน 350 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์ 150 ที่นั่ง วุฒิสมาชิก 250 คน ซึ่ง คสช. แต่งตั้ง
ระบบเลือกตั้งที่นำมาใช้นั้นจึงมีเจตนาโดยตรง คือป้องกันพรรคการเมืองใหญ่ได้ ส.ส.มากเกินไป อ้างว่าเพื่อให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.เข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้ว
วิธีการก็คือ การนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์จะแตกต่างจากแบบเดิมที่พรรคไหนได้ ส.ส.เขตมากเท่าใดก็ได้ โดยจะนำคะแนนจากการเลือกพรรคเข้าไปบวกด้วย
แต่ครั้งนี้จะไม่เป็นแบบนั้น เพราะมีการกาบัตรเพียงใบเดียว หากได้ ส.ส.เขตแล้วแต่ทุกคะแนนจะนำมารวมกันทั้งหมดของ
ผู้สมัครแต่ละคนแต่ละพรรคที่ประชาชนลงคะแนนให้แล้วนำมาคิดตามสัดส่วนที่กำหนดเอาไว้แล้ว
พรรคไหนได้ ส.ส.มากโอกาสที่จะได้ปาร์ตี้ลิสต์จะน้อยลง หรืออาจจะไม่ได้เลยสักคนก็ได้ พรรคไหนแม้ไม่ได้ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว แต่ก็มีโอกาสจะได้ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้
พรรคเพื่อไทยแก้ไขปัญหานี้ด้วยการตั้งสาขาพรรค แบ่งผู้เล่น ผู้บริหารออกไปจากพรรคแม่ ชัดๆก็คือ พรรคไทยรักษาชาติ เพื่อชาติ เป็นต้น
เพื่อหวังที่จะได้ทั้ง ส.ส.และปาร์ตี้ลิสต์ โดยคาดว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตมาก และไทยรักษาชาติจะได้จากปาร์ตี้ลิสต์เป็นส่วนใหญ่
คาดหวังว่าเมื่อรวมกันแล้วจะได้ ส.ส. 251 เสียงเพื่อเป็นรัฐบาล
พูดง่ายๆจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจาก 500 เสียง ซึ่งเป็นรัฐบาลและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
...
เพราะจำนวน ส.ว.ที่ คสช.ตั้งนั้น จะมีส่วนร่วมกับ ส.ส.และรัฐบาลไม่มากนักที่แยกออกมาและจะมีส่วนรัฐบาล คสช. และกองหนุน
ก็คือการได้โหวตเลือกนายกฯในฐานะสมาชิกรัฐสภา
แต่ไม่สามารถที่จะร่วมลงมติในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
ตัวเลข 250 คนขึ้นไปจึงมีความสำคัญยิ่งหากโยงไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯจึงทำให้ได้ ส.ส.ใกล้เคียงกับพรรคการเมือง 2 พรรคทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์
เพราะต้องการรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้มากกว่า 250 เสียง เพราะมิฉะนั้นจะบริหารงานไม่ได้ เพราะเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกเมื่อใดก็เป็นอันจบทันที
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ การลงมติโหวตนายกฯนั้น หากมองลึกลงไปโอกาสของพลังประชารัฐจะมีสูงเพราะมีเสียง 250 เสียงอยู่ในมือแล้ว รวมกับเสียง ส.ส.อีก 126 เสียง ก็มากกว่าพรรคคู่แข่งอย่างแน่นอน
แม้จะได้รับเลือกเป็นนายกฯแล้วก็ตาม
ขั้นตอนต่อไปก็คือ การจัดตั้งรัฐบาล หากผลเลือกตั้งออกไป พลังประชารัฐไม่ได้เสียงตามเป้าก็ต้องออกแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ได้เสียงเพิ่มมากขึ้นจากพรรคเครือข่ายที่รู้กันดีว่าพรรคไหนบ้าง
หากได้เสียงตามเป้าก็ไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาก็คือทำยังไงให้ไปต่อไปได้ ก็ต้องหาพรรคการเมืองในขั้วที่ 3 คือประชาธิปัตย์
สมการการเมืองจะเกิดขึ้นแบบไหนอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน.
“สายล่อฟ้า”