การรวมกลุ่มไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือแม้กระทั่งแปลงใหญ่ ตอกย้ำความเป็นจริงของสุภาษิตไทย “หลายหัวดีกว่าหัวเดียว” ได้เป็นอย่างดี

การรวมกลุ่ม นอกจากก่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจ การมีส่วนร่วม เพิ่มอำนาจต่อรองแล้ว หากทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ และปริมาณตามที่ตลาดต้องการ ก็เพิ่มรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความยั่งยืน...กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา นับเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ

“หลังจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ให้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่าแก่เกษตรกร มีตลาดรองรับ ปี 2560 จึงรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดการวางแผนการผลิต ทำตลาดอย่างเป็นระบบ พัฒนาสู่การผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP รวมถึงมีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 100 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 700 ไร่”

นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา บอกถึงที่มาของการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม...เมื่อเกิดการรวมตัวกันผลิต มีกฎกติกาของกลุ่ม บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ กระทั่งผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มมีมาตรฐานเดียวกัน ต่อมาจึงเกิดการวางแผนการผลิต ทำผลผลิตให้ตรงกับที่ตลาดต้องการ ได้รู้ถึงต้นทุนการผลิต จนสามารถคำนวณผลกำไรได้ล่วงหน้า

...

สำหรับปี 2563 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ตลอดระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน ไร่ละ 23,632 บาท/ปี ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3,219 กก./ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 48,795 บาท/ปี คิดเป็นกำไรไร่ละ 25,163 บาท/ปี เมื่อรวมผลผลิตของทั้งกลุ่มจะได้กำไรถึงปีละ 18 ล้านบาท

โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค.64 แบ่งเป็น 4 เกรด คือ เกรดจัมโบ้ น้ำหนักหวีละ 4 กก. ขึ้นไป ราคาหวีละ 50 บาท เกรดเอ น้ำหนักหวีละ 2.2-4 กก. ราคาหวีละ 41 บาท เกรดบี น้ำหนักหวีละ 1.8-2.2 กก. ราคาอยู่ที่หวีละ 30 บาท และกล้วยหอมทองแบบตกเกรด หรือน้ำหนักต่ำกว่าหวีละ 1.8 กก. ราคา กก.ละ 10 บาท

ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมาได้สนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ลงนามสัญญาซื้อ-ขาย กล้วยหอมทอง กับบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ระยะสัญญา 5 ปี (ปี 2563-2568) โดยทั้งสองหน่วยงานได้สนับสนุนองค์ความรู้ด้านต่างๆให้แก่เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจฯ อาทิ ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ด้านวิชาการ ด้านการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพตรงกับความ ต้องการตลาด โดยเน้นย้ำอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค

ส่งผลให้ผลผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มวิสาหกิจฯส่วนใหญ่ 70% ส่งขายให้กับบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด เพื่อส่งต่อไปยังตลาดโมเดิร์นเทรด ส่วนผลผลิตที่เหลือส่งตลาดญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ผลผลิตส่วนหนึ่งยังแปรรูปเป็นกล้วยตาก ภายใต้แบรนด์ “ไทยดง (Thaidong)” เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย.

กรวัฒน์ วีนิล