(ภาพ) สมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ สมเด็จพิชัย เสนา เตียบัน รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกัมพูชา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีปิดโครงการที่สร้างประวัติศาสตร์พุทธศาสนา “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2” โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม, นายวินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์, นายชัช ชลวร ประธานชมรมโพธิคยา นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และ นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ร่วมพิธีที่ห้องประชุมโรงแรมโซฟิเทล โภคีธารา อังกอร์ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา.
เกือบ 700 วันในการเตรียมการทุกด้านด้วยความทรหดอดทนของคณะทำงานโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิวีระภุชงค์, สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และชมรมโพธิคยา
ขณะที่อีก 18 วันของการออกธรรมยาตราไปยัง 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
ภาพที่ได้เห็นหมู่มวลชาวพุทธของ 5 ประเทศ ทั้งระดับผู้นำสงฆ์ผู้นำระดับสูง และระดับท้องถิ่นของแต่ละประเทศ รวมพลังจับมือกันให้ความสำคัญกับโครงการนี้ชนิด “เหนือความคาดหมาย”
ส่งผลให้ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2” กลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาวพุทธไปอย่างสง่างาม สมดั่งกับที่พระพุทธองค์ได้ฝากพระพุทธศาสนาเอาไว้กับ “พุทธบริษัทสี่”
...
ทุกประเทศที่ขบวน “พุทธศาสตร์การทูต” ธรรมยาตราเข้าไปได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากชาวพุทธที่ออกมาแสดงพลังแห่งวิถีพุทธกันชนิดมืดฟ้ามัวดิน
ไม่ผิดแน่นอน ถ้าจะใช้คำว่า “สุดยิ่งใหญ่อลังการ”
เพราะทุกประเทศร่วมกันดำเนินการให้กับโครงการนี้ด้วยใจ ขณะที่ชาวพุทธทุกประเทศก็ออกมาร่วมกันเดินเข้าสู่วิถีพุทธด้วยใจเช่นกัน
วันนี้แม้โครงการจะสิ้นสุดลงไปแล้วที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา ด้วยพิธีปิดโครงการที่ไม่นึกว่าจะได้เห็นความยิ่งใหญ่เช่นนี้ ก็ได้เห็นจะจะกับตาตัวเอง
สมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และ สมเด็จพิชัย เสนา เตียบัน รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกัมพูชาปักหลักเป็นประธานปิดโครงการที่มีกิจกรรมตั้งแต่เช้าตรู่จนจดค่ำ แบบมอบเวลาให้ทั้งวัน
ที่สำคัญ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังอนุมัติให้คณะธรรมยาตราประกอบพิธีบวงสรวงและเจริญพระพุทธมนต์ อุทิศถวายแด่ดวงวิญญาณ พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2–พระเจ้าชัยวรมันที่7 และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในลุ่มน้ำโขงเป็นกรณีพิเศษ
...
ที่ ปราสาทนครวัด มรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีการอนุมัติเช่นนี้ แถมยังจัดพิธีให้อย่างสมเกียรติอีกต่างหากด้วย
ทั้งนี้ สมเด็จพิชัย เสนา เตียบัน เปิดใจว่า ดีใจมากที่ได้ต้อนรับคณะธรรมยาตรา ซึ่งเลือก จ.เสียมราฐของกัมพูชา เป็นประเทศปิดโครงการที่มีความสำคัญกับประเทศในลุ่มน้ำโขง โดยมีพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์และสร้างสันติภาพ
...
“นอกจากนี้ โครงการธรรมยาตรายังเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ครอบคลุมทุกประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีงาม จากความซื่อสัตย์ จากความเชื่อใจกันระหว่างประเทศทั้ง 5” สมเด็จพิชัย เสนา เตียบัน กล่าวย้ำ
ขณะที่ นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า ตลอด 18วันที่ผ่านมาของโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เป็น 18 วันของความสุข เป็น 18 วันของความศรัทธา และเป็น 18 วันของความหวัง
...
ที่มุ่งหวังให้พุทธศาสนิกชนนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ตลอด 18 วันที่ผ่านมาได้เห็นถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง ถือได้ว่าโครงการนี้นับแต่ครั้งที่ 1 สู่ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จในการนำพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์
อีกทั้งยังถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ทั้ง 5 ประเทศในลุ่มน้ำโขงได้ร่วมกันจารึกไว้ในการเผยแพร่ ปกป้อง และคุ้มครองดูแลพระพุทธศาสนา
ส่วน นายวินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์ กล่าวว่า เห็นภาพของการธรรมยาตราที่ปรากฏออกมาในทุกจุด ทุกประเทศทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ตนและครอบครัวเกิดพลังในการที่จะสานโครงการนี้ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
สำหรับโครงการธรรมยาตราที่เพิ่งจบไปหมาดๆนี้ พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย ในฐานะหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ส่งทีมพระธรรมทูตจากอินเดีย-เนปาล ร่วมธรรมยาตราด้วยตลอดทั้ง 18 วันแล้ว ยังนำทีมพระธรรมทูตอีกส่วนไปเข้าร่วมงานทั้งพิธีเปิดและปิดอีกด้วย
ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ที่บินตรงไปเข้าร่วมพิธีปิดด้วย กล่าวอย่างตื้นตันใจว่า
“เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาร่วมงานนี้ แม้จะเป็นช่วงสั้นๆแค่พิธีปิด แต่จากการติดตามมาตลอด ผมภูมิใจในโครงการ ขอให้เดินหน้าต่อไป ผมพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเป็นโครงการที่สร้างสิ่งดีๆทุกด้านให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั้ง 5 ประเทศ”
นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งในการเชื่อมสายสัมพันธ์ ชาวพุทธ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง ที่มี พระพุทธองค์ เปรียบเป็นพ่อเดียวกัน และ แม่น้ำโขง เป็นแม่เดียวกัน แนบแน่นเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้นทวีคูณ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์