จากกรณีหญิงรายหนึ่งนำลูกสาวอายุประมาณ 2 ขวบ ไปทิ้งไว้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี พร้อมกับจดหมายระบุยกให้ดูแลถาวร เพราะไม่สามารถดูแลได้ ตามที่รายงานไปแล้วนั้น
โดยวันนี้ (14 ม.ค. 2563) นางชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์ ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ ได้เดินทางมาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี เพื่อติดต่อขอรับเด็กหญิงไปเลี้ยงไปเป็นบุตรบุญธรรม
ล่าสุด ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นางสาวผกาวดี อยู่เอม หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี ถึงรายละเอียดในการดูแลเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า แม้เด็กหญิงจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาขออุปการะ แต่ ณ ขณะนี้ เด็กหญิงยังต้องอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี เพราะทางเจ้าหน้าที่ต้องฟื้นฟู บำบัด เยียวยาสภาพจิตใจของเด็กหญิงให้ดีเสียก่อน
“การขอน้องไปรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เสียก่อน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถนำน้องไปให้ใครก็ได้” หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี กล่าว
เมื่อถามว่า กระบวนการต่างๆ มีอะไรบ้าง? นางสาวผกาวดี ให้คำตอบว่า “การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ของกฎหมายควบคู่กับหลักการทางสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นขั้นเป็นตอนหลายกระบวนการ”

...
“เมื่อน้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการของเราแล้ว เราก็ต้องปรึกษาหารือกับคุณแม่ของน้องก่อนว่า คุณแม่ต้องการฝากน้องไว้กับเราชั่วคราว หรือยกน้องให้กับทางภาครัฐ แต่ก็มิใช่ว่า อยู่ๆ เราจะยกน้องให้ใครก็ได้ เพราะเราต้องหารือกับแม่ของน้องก่อน และผู้ที่มาขอรับน้องไปเป็นบุตรบุญธรรมต้องยื่นเอกสารแสดงความจำนง จากนั้น ทางภาครัฐก็จะเข้าไปตรวจสอบครอบครัวที่จะมารับน้องไปเลี้ยง เพื่อพิจารณาว่าครอบครัวนั้นๆ เป็นอย่างไร สามารถเลี้ยงดูน้องได้หรือไม่”
“ณ เวลานี้ สภาพจิตใจของน้องยังปกติดี ไอคิวปกติ พัฒนาการการเติบโตสมวัย ซุกซนตามประสาไปตามวัย” หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลพบุรี กล่าว
ขณะที่ หลักเกณฑ์การขอรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมนั้น มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ อบอุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี
- ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
- ต้องมีฐานะการครองชีพที่มั่นคง ไม่มีหนี้สิน และมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการลี้ยงดูหรือสนับสนุนการศึกษาของเด็ก
- ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป
- ต้องมีเวลาให้กับเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม และเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด
- ต้องมีเหตุผลในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เหมาะสม ไม่เชื่อถือเรื่องโชคลาง
- ต้องไม่มีบุตร หรือเด็กในความอุปการะมากเกินไป
- ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดตามกฎหมาย
- ต้องมีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้บุตรบุญธรรมประพฤติตนเป็นคนดี
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์รับเด็กหญิงไปเลี้ยง มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี (นับตั้งแต่วันเกิด ถึงวันที่ยื่นคำร้อง)
2. ต้องมีอายุมากกว่าเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ไม่น้อยกว่า 15 ปี
3. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ต้องห้ามเป็นผู้ปกครองเด็กตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่
- ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
- ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
- ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดา หรือมารดากับผู้เยาว์
- ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อ ห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง