นอกจากโลกทุกวันนี้ถูกครอบงำไปด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญยิ่ง แต่อีกด้านได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมามากมายทั้งแบบโดยตรงและโดยอ้อม

กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดและเคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้วในบ้านเรา อย่างเช่น กรณีลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อนสารพิษ

กรณีเหมืองแร่ตะกั่ว ปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ ที่ จ.กาญจนบุรี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก

กรณีที่ชายฉกรรจ์กว่า 300 คน บุกเข้าไปล้อมกรอบ และทำร้ายผู้ที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.เลย หรือจะเป็น กรณีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว อย่างไร้มนุษยธรรมในหลายพื้นที่

เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่ภาคธุรกิจในระบบเสรีนิยม ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละชุมชน

การที่ประเทศใดยังไม่มีกฎหมายกำหนดบทบาทหน้าที่ของภาคธุรกิจ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเอาไว้อย่างชัดเจน จึงเป็นจุดบอดที่ต้องหาทาง อุดช่องว่างเหล่านี้

...

พิทยา จินาวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ บอกว่า ในอดีตการลงทุนทำธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติทั้งหลาย มักเน้นที่ การทำกำไรสูงสุด

แต่วันนี้เทรนด์ของโลกเปลี่ยนไป เริ่มมีการต่อต้านแนวคิดดังกล่าว รุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจำต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากที่เคยมุ่งทำกำไรสูงสุด มาเป็น ทำกำไรแค่พอควร แต่ให้มีกำไรอย่าง ยั่งยืนแทน โดยหลีกเลี่ยงที่จะสร้างปัญหาให้แก่ผู้คน และสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับที่ เนติธร ประดิษฐ์สาร กรรมการยกร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่ร่วมชี้ให้เห็นถึงทิศทางซึ่งเป็นกระแสใหม่ของโลกธุรกิจในปัจจุบันว่า

ทุกวันนี้การจะเป็นยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจที่มั่นคงได้ นอกจากต้องเคารพ สิทธิมนุษยชนทางด้านแรงงาน และ สิ่งแวดล้อม เป็นหลัก แต่ละบริษัทยังต้องระวัง อย่าให้มีเรื่องการทุจริต เข้ามาเกี่ยวข้อง

เขายกตัวอย่าง กรณีการผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นไอโฟน 5 กว่าที่จะประกอบชิ้นส่วนต่างๆขึ้นมาเป็นโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ทุกวันนี้ อุปกรณ์หรือส่วนประกอบแต่ละชิ้น เช่น หน้าจอ เคสที่ห่อหุ้ม ปุ่มกด กล้องถ่ายรูป ลำโพง หรือแม้แต่นอตตัวเล็กๆที่ทำหน้าที่ยึดโยงอุปกรณ์ ใช้วิธีกระจายการผลิตไปยังแหล่งต่างๆทั่วโลก เพื่อให้ได้ต้นทุนในราคาที่เหมาะสม

“อย่างเช่นกรณีชิ้นส่วนที่เป็นนอตขนาดเล็กบนโทรศัพท์มือถือไอโฟน 5 ซึ่งผลิตขึ้นที่บริษัทแห่งหนึ่งชื่อ ฟ็อกคอนน์ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกคนงานท้องถิ่นประท้วงว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการใช้งานพวกเขาอย่างหนัก ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก กับผู้คนในชุมชนเล็กๆที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก”

เนติธรบอกว่า แม้แต่บริษัทแอปเปิลเอง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เจ้าของสินค้ามือถือยี่ห้อไอโฟน ซึ่งส่งโทรศัพท์มือถือไปขายทั่วโลก ยังแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บริษัทฟ็อกคอนน์ที่รับจ้างผลิตนอตให้ตัวเองอีกทอดนั้น ตั้งอยู่ที่ไหนในเมืองจีน

แต่ภายใต้ห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนในโลกยุคใหม่ เมื่อเกิดปัญหาการประท้วงขึ้นมาแล้ว ย่อมสร้างความปั่นป่วนมหาศาลให้แก่บริษัท แอปเปิล ซึ่งไม่สามารถเร่งผลิตโทรศัพท์มือถือส่งให้ลูกค้าได้ทัน

ตัวอย่างจากบทเรียนนี้ เขาบอกว่า ถ้าไม่อยากเจอปัญหาน่าปวดหัว ภายใต้ห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อน ถ้าคุณเป็นเจ้าของสินค้า หรือบริการต้องรู้รายละเอียดถึงทุกที่มาของทุกขั้นตอนการผลิต ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของใคร
เนติธรบอกว่า ยังมีอีกหลายตัวอย่าง เช่น กรณีการทำเหมืองแร่โคบอลต์ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือ ที่ประเทศคองโก แถบแอฟริกา ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนที่นั่น ก็สร้างปัญหาให้แก่เจ้าของธุรกิจได้อย่างไม่คาดคิดเช่นกัน

...

ถัดมา การทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีการไล่ที่ชาวอินเดียนแดง ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม ให้อพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากแห่งใหม่ที่ในเมือง ซึ่งเป็นแหล่งที่พวกเขาไม่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบนั้น เพื่อเปิดทางให้กับการเข้าไปทำเหมืองทองคำ ในถิ่นที่อยู่เดิมของชาวอินเดียนแดง

หรือแม้แต่กรณีโรงซักรีดของโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งที่แอบ ปล่อยน้ำผงซักฟอกลงทะเล ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านในละแวกใกล้เคียงไม่สามารถจับปลาได้อีก นี่ก็เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนในชุมชน ที่สร้างความขัดแย้งตามมา

เนติธรบอกว่า สิทธิมนุษยชน หรือสิทธิของคนในแต่ละชุมชน กับการทำธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในทุกกระบวนการชีวิตของคนเรา ตั้งแต่ลืมตาตื่น จนกระทั่งเข้านอน

“มีผู้เคยตั้งคำถามน่าคิดไว้ว่า ถ้าจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น อาจทำให้คนเหล่านั้นมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น เปลี่ยนจากเครื่องจักรเก่า ที่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้เครื่องจักรรุ่นใหม่ในการผลิต ที่มีความสะอาดต่อสิ่งแวดล้อมแทน

...

หรือเปลี่ยนจากการจ้างแรงงานแบบกดขี่ เน้นค่าแรงต่ำเข้าว่า โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน มาเป็นการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการที่ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ผู้บริโภคอย่างเราท่านต้องควักเงินซื้อสินค้า หรือบริการในราคาที่แพงขึ้นอีกเล็กน้อย ถามว่าถ้าเป็นท่านจะยอมจ่ายเพิ่ม เพื่อสนับสนุนสินค้า หรือบริการที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมเหล่านั้นหรือไม่”

เนติธรบอกว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้ประเทศไทย มีหลายบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ เช่น บางจาก และ ปตท. ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน บริษัท แพนด้า จิวเวลรี่ ซึ่งส่งออกเครื่องประดับ บริษัท ไทยยูเนียน ซึ่งทำธุรกิจทางด้านการประมง บริษัทซีพี ซีพีเอฟ และซีพี ออลล์ ซึ่งทำธุรกิจด้านอาหาร บริษัทน้ำตาลมิตรผล บริษัทพริ้นท์ซิตี้ บริษัทเกี่ยวกับกระดาษ และการพิมพ์ และบริษัททรู ซึ่งทำธุรกิจด้านการสื่อสาร เป็นต้น

กิจการเหล่านี้มีความล่อแหลมที่อาจไปละเมิดสิทธิมนุษยชนทางด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจล่อแหลมต่อการใช้แรงงานต่างด้าวไม่ถูกต้อง แต่ด้วยความมีจิตสำนึกที่ดี บริษัทเหล่านี้ได้ร่วมกันนำร่องก่อตั้งเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า สมาคมโกลบอล คอมแพ็ก ประเทศไทย ขึ้น เพื่อหวังจะลดข้อขัดแย้งระหว่างการทำธุรกิจที่ไปก่อปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

เนติธรบอกว่า ถ้าหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลก มีจิตสำนึกที่ดีเช่นนี้เป็นจุดเริ่ม ความหวังที่จะเห็นการทำธุรกิจ เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งโลกก็มีมากขึ้นไปด้วย.