เมื่อโลกเดือดร้อนขึ้น “อุณหภูมิพุ่งสูงเฉลี่ย 1.5 องศาฯ” เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมกลายเป็นปัจจัยส่งผลกระทบประเทศไทยโดยเฉพาะปี 2568 ต้องเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วต่อเนื่อง
สร้างความซับซ้อนต่อ “สภาพอากาศไทย” เห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปีมีฝนตกลงมาเร็วกว่าปกติจาก “สภาวะลานีญา” แม้จะสร้างโอกาสกักเก็บน้ำแต่ก็เสี่ยงน้ำท่วมเฉพาะจุด “แถมก่อเกิดปรากฏการณ์อากาศเย็นวูบแทรกกลางฤดูร้อน” สะท้อนความผันผวนอากาศมีแนวโน้มเกิดความถี่รุนแรง เป็นอีกปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในอนาคต
แต่ความท้าทายสำคัญคือ “ปีนี้ฝนทิ้งช่วงกลางปีเปลี่ยนผ่านสู่เอลนีโญ” ทำให้ปริมาณฝนท้ายปีจะลดน้อยลง “หากวางแผนจัดสรรน้ำไม่ดี และภาคเกษตรไม่ปรับตัว” ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความมั่นคงทางน้ำยาวไปถึงในปี 2569 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า
โลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนมากขึ้นเรื่อยๆตามข้อมูล IPCC ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาฯ กระทบต่อประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2567 “ต้องเผชิญสภาวะเอลนีโญกำลังแรง” ทำให้อากาศร้อนจัดมาตั้งแต่เดือน ม.ค. และร้อนที่สุดในเดือน เม.ย. “อุณหภูมิค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 43.6 องศาฯ” ทำลายสถิติในรอบ 125 ปี
ก่อนมาเข้าสู่ “สภาวะลานีญาในปลายปี 2567” ทำให้ต้นปี 2568 ฝนตกเร็วกว่าทุกปีตั้งแต่เดือน ม.ค. แม้ฝนจะตกเร็ว แต่อุณหภูมิพื้นดินยังสูง “บางคนรู้สึกร้อนต้องอยู่ห้องแอร์ตลอด” ส่งผลให้ร่างกายคุ้นอุณหภูมิต่ำ 22-25 องศาฯ เมื่อออกมาสัมผัสอุณหภูมิภายนอกที่สูงกว่า 35-40 องศาฯ “ร่างกาย” จึงรับรู้ความร้อนมากกว่าปกติ
...
โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่าง “กรุงเทพฯ” อันมีความร้อนสะสมจากถนน ตึก และคอนกรีต ทำให้ตอนกลางคืนก็ยังร้อน “บางครั้งฝนมาช่วยบรรเทาชั่วคราว” แต่ก็ไม่สามารถลดความร้อนที่เกาะ ในเมืองได้

สัญญาณน่ากังวลโลกร้อนนี้ “ยังก่อเกิดอากาศแปรปรวนสุดขั้ว” จนปีนี้บางพื้นที่เกิดปรากฏการณ์เย็นชั่วคราวในฤดูร้อนตอนกลางคืนช่วง เม.ย.เดือนร้อนที่สุดมาจาก 2 เรื่อง คือ “น้ำแข็งขั้วโลกระบาย” เกิดกระแสลมพาความเย็นลงมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระลอก 2-3 วัน และบวกกับไทยเผชิญลานีญาอุณหภูมิลดลง 0.2 องศาฯ
ทำให้ลานีญาเป็นตัวหน่วงชั่วคราวของอุณหภูมิ “เกิดภาวะเย็นวูบชั่วคราว” แม้จะเป็นในช่วงฤดูร้อนก็ตาม “อันเป็นสัญญาณของแนวโน้มจะเกิดขึ้นถี่ในอนาคตเรื่อยๆ” ตราบใดที่อุณหภูมิโลกยังเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ทำให้เรามีโอกาสจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนแบบสุดขั้วบ่อยแบบนี้อีก
ถ้าย้อนกลับมาดู “เรื่องฝน” หากวิเคราะห์แนวโน้มเบื้องต้นปีนี้มีสัญญาณฝนตกมาเร็วกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่เรียกว่า “ฝนหลงฤดูอย่างมีนัยสำคัญ” อันเป็นปรากฏการณ์จากสภาพอากาศแปรปรวนผลพวงมาจาก “โลกร้อน” ทำให้แผ่นดินร้อนปะทะมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุมมาเป็นระลอก หรือมาเจอความชื้นจากอ่าวไทยที่พัดเข้ามา
สิ่งนี้ทำให้เกิดการยกตัวของอากาศ “ก่อเกิดเป็นเมฆฝนตกหนัก 15–30 นาที” แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ปริมาณน้ำฝนตกมามาก ก็ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังรอการระบายในพื้นที่เขตเมือง หรือบริเวณระบบระบายน้ำไม่อาจรองรับน้ำจำนวนมากได้ อย่างเมืองพัทยา จ.ชลบุรี มักระบายน้ำฝนลงทะเลไม่ได้เอ่อท่วมเกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ
สำหรับ “พายุ” ปีนี้มีโอกาสเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง 10 ลูก จากค่าเฉลี่ยปกติ 7-8 ลูก เพราะอิทธิพลลานีญาอ่อนกำลังเปลี่ยนแปลงความชื้น และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเอื้อต่อการเกิดพายุขยายตัวกว้างขึ้น
เรื่องนี้แม้จะสามารถประเมินจำนวนพายุได้คร่าวๆ “แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุยังไม่อาจคาดการณ์ได้แม่นยำก่อนล่วงหน้า 5 วัน” ส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนตัวไปยังประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุหรือไม่นั้นยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
เหตุนี้ในช่วงเข้าสู่ “ฤดูฝนเต็มตัว” ตั้งแต่เดือน พ.ค.มีแนวโน้มว่าปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จึงควรวางแผนบริหารจัดการน้ำ และเร่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนน้ำท่วมประเมินไม่น่าเกิดอุทกภัยรุนแรงครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ เพียงแต่ห่วง “น้ำท่วมขังเฉพาะจุด” เพราะลักษณะของฝนมักตกหนักเป็นจุดๆ
ลักษณะเป็นน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำรอการระบายในเขตเมือง แม้ไม่ใช่น้ำท่วมใหญ่ก็ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อน และเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึงส่งผลกระทบต่อการสัญจรในพื้นที่ที่เกิดเหตุได้

...
ปัญหามีอยู่ว่า “กลางเดือน ก.ค.” คาดว่าฝนจะทิ้งช่วงต่อเนื่องส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝนตกน้อย หรือไม่มีฝนตกเลยติดต่อกันหลายวัน เช่นนี้ต้องติดตามดูช่วงปลายฤดูฝนหากฝนยังน้อยอยู่ปี 2569 “อาจเกิดการขาดแคลนน้ำ” เพราะแม้น้ำต้นทุนทั่วประเทศ ปีนี้จะดีกว่าปี 2567 แต่ก็มีน้ำเหลือใช้ได้จริงเพียง 30% ของปริมาณ น้ำทั้งหมด
ความท้าทายสำคัญจะอยู่ที่ช่วงปลายปี “ปรากฏการณ์ลานีญาจะลดอ่อนกำลังลง” มีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญทำให้ฝนตกน้อย และไม่เพียงเท่านั้นร่องความกดอากาศต่ำตอนบนยังจะขยับเลื่อนลงมายังภาคกลางก่อนจะขยับลงไปสู่พื้นที่ภาคใต้ “ฝนในภาคเหนือจะมีน้อย” กลายเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญจะลดลงด้วย
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงนี้ “ประเทศไทย” จึงยังคงมีความจำเป็นในการเพิ่มปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นให้ได้อีก 70% ของความจุ เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
เช่นนี้การบริหารจัดการน้ำ “ควรวางแผนจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” ทั้งเพิ่มการกักเก็บน้ำฝนที่ตกในทุกช่วงต้นฤดูฝนให้ได้มากที่สุด และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก-ขนาดกลาง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาอย่างเต็มที่ รวมถึงต้องมีการเตรียมมาตรการรับมือกับภาวะฝนน้อย หรือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2569 ไว้ด้วย

...
ในส่วนฤดูฝน “ควรเร่งการเพาะปลูก” โดยเกษตรกรต้องพิจารณาเร่งทำนา หรือเพาะปลูกพืชในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนที่มีปริมาณมากและวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนเดือน ส.ค.แล้วหลังต้นฤดูฝน หรือหลังการเก็บเกี่ยวควรใช้น้ำอย่างประหยัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตรับมือกับความไม่แน่นอน
นี่เป็นสถานการณ์ฝนที่มากกว่าปกติช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 “เป็นโอกาสกักเก็บน้ำต้นทุน” แต่ก็ต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ และเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจตามมาในปี 2569 สำหรับเกษตรกรควรปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับน้ำที่คาดการณ์ไว้นี้
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม