สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานข่าวตรงกันว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย และองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา สิริอายุ 97 ปี
ผมทราบจาก ไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพจเฟซบุ๊ก “โบราณนานมา” ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวสั้นๆระบุว่า ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทางบุตรธิดาและครอบครัวจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้วยความไม่แน่ใจว่า เพจเฟซบุ๊ก “โบราณนานมา” จะเชื่อได้ แค่ไหน ผมจึงคลิกไปอ่านสำนักข่าวออนไลน์อื่นๆอีกหลายสำนัก จนในที่สุดก็เชื่อได้ว่า ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านเป็นเรื่องจริง
ต่อมาเพจ “โบราณนานมา” ก็เผยแพร่ประวัติของท่าน มีเนื้อหาสาระสำคัญว่า ศ.พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2470 ภูมิลำเนา ณ จังหวัดพระนคร เป็นนักกฎหมายที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ศ.พิเศษ ธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ในระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีนโยบายโดดเด่นคือ การต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น ควบคู่ไปกับนโยบายต่อต้าน คอร์รัปชัน และนโยบายปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของท่านถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายธานินทร์ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2520 และได้ดำรงตำแหน่งนี้ มาจนสิ้นรัชกาล
...
เนื้อหาสาระข้างต้นนี้ ผมคัดลอกมาจากเพจ “โบราณนานมา” ซึ่งตรวจสอบกับความทรงจำแล้วค่อนข้างถูกต้อง
ขณะเดียวกันก็มีการบันทึกไว้ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีด้วยว่า รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ใช้อำนาจในการจัดการประชาชนในข้อหาคอมมิวนิสต์ จนมีประชาชนส่วนหนึ่งหนีข้อหานี้เข้าป่าไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชนสั่งปิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง โดยรัฐมนตรีมหาดไทย นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งอาศัยคำสั่งปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42
จากความทรงจำของผมเช่นกัน เนื้อหาสาระที่วิกิพีเดียบันทึกไว้ ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะจำกัดเสรีภาพสื่อ ซึ่งผมยืนยันได้ว่าจริง
โดยวัฒนธรรมประเพณีของประเทศไทยเรานั้น เมื่อบุคคลใดถึงแก่กรรมเราก็จะพูดถึงแต่เรื่องที่เป็นคุณงามความดีและแสดงความรักความอาลัยแก่ผู้ล่วงลับ
ในกรณีของอดีตนายกฯธานินทร์ก็เช่นกัน แม้ในชีวิตส่วนใหญ่ของท่านจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างอเนกอนันต์ โดยเฉพาะในช่วงการเป็นผู้พิพากษาและในช่วงดำรงตำแหน่งองคมนตรียาวนานติดต่อกันมาเกือบ 40 ปี
แต่ในช่วง 1 ปีที่ท่านบริหารประเทศ และใช้นโยบายเผด็จการพลเรือนเต็มรูปแบบนั้น ได้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างใหญ่หลวงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
ผมจะขออนุญาตย้อนอดีตแสดงความคิดความเห็นย้อนหลังในบางเรื่องบางประเด็นนะครับ และจะพยายามเขียนอย่างเป็นกลาง และให้เกียรติแก่ผู้ถึงแก่กรรมแล้วตามวัฒนธรรมไทยๆของเราทุกประการ.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม