กับวันเวลาที่เหลือน้อยเต็มที...วันปีใหม่ปีนี้ หากผมเลือกได้ ผมขอเลือกไปไหว้พระ...พุทธชินราช ที่พิษณุโลก

ที่จริงก็เคยไปไหว้ท่านมาแล้ว หลายครั้ง...ครั้งแรกๆ ก็จำได้ ก็เหมือนๆ คนทั่วไป ถือธูปเทียน (บางวัดอย่างวัดบ้านแหลมบ้านผม) ก็มีทอง (ทองเปลว) และดอกไม้ จบภาระการไหว้ ก็อาจมีคิวเสี่ยงเซียมซี

ได้คำทำนายว่าโชคดีก็เดินตัวเบา ถ้าคำทำนายไม่ดี ทั้งยังมีคำบอกให้สะเดาะเคราะห์ ก็มักเลี้ยวไปหาน้ำมนต์หรือทำบุญไปตามตู้ที่ตั้งเรียงราย

แต่ครั้งหลังๆยิ่งเมื่ออายุมากเข้า อย่างวันนี้ นับเลข 80

เข้าไปแล้ว ก็มักไปแค่ไหว้พระมือเปล่า...เขินบรรยากาศของผู้มีจิตศรัทธาไม่ไหว ไหนๆ ก็เข้าวัดไหว้พระทั้งที...ก็ควักกระเป๋าเอาแบงก์ร้อยใบสองใบ ยัดใส่กล่องบริจาคเข้าตำรา ตีตั๋วดูหนัง ทำนองนั้น

แล้วก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ เริ่มแต่หามุมนั่ง ดูองค์พระให้เต็มตา พักใหญ่ก็เดินเข้าไปใกล้ๆ บางองค์ที่มีข้อสงสัย...ในแง่คิดที่ติดในใจบางข้อ...ก็เที่ยวไปด้อมๆมองๆ

จะว่าไป การไปไหว้พระแบบผมก็คือไปดูพระนั่นล่ะครับดูให้ทั่ว ดูให้ถ่องแท้ ทั้งด้านศิลปะ ทั้งด้านเนื้อหาวัสดุ และสภาพผิวองค์พระ เอามาเทียบเคียงกับอีกองค์และอีกองค์ที่เคยไปดู

พูดให้โก้ ก็ว่าไปหาความรู้ก็ได้

ในหนังสือ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร เขียนถึงพระพุทธชินราช...ในแง่มุมที่ลึกล้ำกว่า ลองอ่านกันดู

พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปโบราณ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทโปรดให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ครั้งสถาปนาเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวงในพุทธศักราช 1900

พระพุทธชินราช คือประจักษ์พยานของความสูงส่งทางฝีมือ และความฉลาดลึกซึ้งของช่างในยุคนั้น

นอกจากองค์พระจะงดงามโดยพุทธลักษณะ คือเป็นการนำเอาลักษณะที่งามตามแบบอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยกับเชียงใหม่มาผสมผสานกันอย่างลงตัวแล้ว

...

การประดิษฐานองค์พระในจุดที่พอดี ทั้งเรื่องแสงเงาและมุมมองยังมีส่วนสำคัญให้เราได้รับความงามนั้นอย่างเต็มที่

เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชครั้งแรก ในปี 2435 ทรงบันทึกว่า

“เวลานั้น ยังมิได้ปฏิสังขรณ์แก้ไขพระวิหารให้สว่างอย่างวันนี้ พอไปถึงประตูวิหาร แลเข้าไปข้างใน ดูที่อื่นมืดหมด เห็นแต่องค์พระชินราชตระหง่านงาม เหมือนลอยอยู่ในอากาศ เห็นเข้าก็จับใจเกิดเลื่อมใสในทันที

เพราะเขาทำช่องแสงสว่างเข้าทางประตูใหญ่ด้านหน้าแต่ทางเดียว พระชินราชตั้งอยู่ข้างในตรงประตู และเป็นของปิดทอง จึงแลเห็นก่อนสิ่งอื่นในวิหาร”

ต่อมา ได้มีการเจาะหลังคาวิหารให้แสงสว่างเข้าได้มากขึ้น ซึ่งกลับทำให้องค์พระไม่เด่น เช่นที่เคยเป็นมาแต่โบราณ

อีกประการหนึ่ง ได้แก่การกำหนดตั้งองค์พระให้หน้าตักอยู่ในระดับสายตาในวิหาร ซึ่งมีรูปทรงยาวเปรียบประดุจกล้องส่องกำกับระยะการมองให้ได้คมชัดที่สุด ช่วยให้เราเห็นความงามได้เต็มที่

ข้อนี้ ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า หากพระพุทธชินราชไปประดิษฐานอยู่ในวิหารสั้นๆ และองค์พระตั้งอยู่สูงจนต้องแหงนหน้าดู จะไม่งามได้เท่าที่เป็นอยู่นี้

ผมอยากไปไหว้พระพุทธชินราชอีกครั้ง ก็เพราะมุมมองของท่านผู้ใหญ่ท่านนี้...อยากเห็นกับตาความเลื่อมใสศรัทธานั้น จริงหรือ? มีเหตุปัจจัยหลายด้าน ไม่ใช่ความงาม ความสง่าขององค์พระประการเดียว.


กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม