เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต มะเร็ง

โรคยอดฮิตของคนไทยวันนี้ ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินที่มากเกินพอดี จนมีภาวะอ้วน ซึ่งก่อให้เกิดโรคที่เราเรียกกันว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non Communicable Diseases)

โดยตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานไว้คือ คนไทยป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้รวมกว่า 33 ล้านคน เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละ 400,000 คน ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละปี พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่เพิ่มปีละ 300,000 คน โรคมะเร็งปีละ 140,000 คน ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตกว่า 1 แสนคน ที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยโรคไตมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ภาพรวมมีการใช้งบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล ไม่น้อยกว่า 62,138 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของงบประมาณในแต่ละปี ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายแฝงจากค่าอาหาร ที่พัก ค่าเดินทาง การลางาน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละ 1.6 ล้านล้านบาท

...

ตัวเลขผู้ป่วย ค่ารักษาพยาบาล มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น สวนทางกับโอกาสในชีวิตที่สูญเสียไปจากสุขภาพแย่ลงเรื่อยๆนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบดูแลด้านการสาธารณสุขของประเทศคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

จึงเป็นที่มาของ นโยบายการขับเคลื่อนคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2568 จากการประกาศของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช. สาธารณสุข ที่จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยวางเป้าหมายที่จะประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อระดมทุกภาคส่วนของสังคมไทย ขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกันกับกระทรวงสาธารณสุข

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอฉายภาพการเตรียมความพร้อมของกระทรวงคุณหมอ ก่อนจะดึงทุกภาคส่วนเดินไปด้วยกัน เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนคนไทยห่างไกล NCDs โดยมีนายสมศักดิ์ นั่งเป็นประธาน พร้อมคณะอนุกรรมการอีก 6 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการลดโรค NCDs ให้ครบวงจร

ตามมาด้วย การชูบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ที่มีมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ให้มีความรู้ในการแนะนำการบริโภคอาหารที่พอดีกับแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักเกินให้ควบคุมการกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าว แป้ง หรือการกินแบบนับคาร์บ ควบคู่การลดกินหวาน มัน เค็ม และส่งเสริมการออกกำลังกาย ที่พอเหมาะตาม สูตรของ Harris & Benedict ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปี 2567 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. ระบุว่า อสม. ร้อยละ 100 มีความเข้าใจสามารถนับคาร์บได้ด้วยตนเอง และพร้อมจะส่งต่อความรู้ไปสู่ชาวบ้านที่ อสม.ดูแล ซึ่ง อสม. 1 คน มีขอบข่ายรับผิดชอบดูแลให้คำแนะนำชาวบ้านในชุมชน 50 คน

นั่นหมายถึง ปี 2568 จะมีคนไทยไม่น้อยกว่า 50 ล้านคนที่มีความรู้ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง

ด้านการเตรียมพร้อมของแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ มีแผนจัดตั้งคลินิก NCDs ในโรงพยาบาลทุกระดับตั้งแต่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลระดับอำเภอ จังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และจัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ในทุกตำบลครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยึดต้นแบบ จากโรงเรียนเบาหวานวิทยา ของเขตสุขภาพที่ 9 ที่จัดกิจกรรมกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ให้สามารถลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย ลดยา จนเรียกได้ว่าหายหรือโรคสงบ คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาโรคปีละประมาณไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ด้านการลดการกินหวาน มัน เค็ม ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกาย รวมทั้งการเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ

...

ขณะที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมสุขภาพ อาทิ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมคนในสังคม เช่น การวางผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอยู่บนชั้นวางสินค้าระดับสายตา ให้คนเข้าถึงง่าย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพก็จัดวางไว้ด้านใน ทั้งเสนอกลไกทางการคลังเพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น หากหน่วยงาน องค์กร บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการปรับพฤติกรรมพนักงาน ให้ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ก็จะให้แรงจูงใจด้านภาษี

...

ส่วนด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้วางแนวทางไว้เช่นกันด้วยหลัก 3 ป. คือ ป้องกัน ด้วยการสร้างความรับรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปลูกฝังด้วยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ให้เด็กได้เรียนรู้ดูแลตัวเองได้ในอนาคต และปราบปรามอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพไม่ให้อยู่ในโรงเรียน เป็นต้น

ภาพเหล่านี้คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนในสังคมไทยมีเป้าหมายตรงกันที่จะขจัดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง แต่อาจจะต่างคนต่างทำ จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

“ทีมข่าวสาธารณสุข” เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องประกาศการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อรวมพลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันขจัดโรคเหล่านี้ ซึ่งเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในทุกช่วงอายุ กำหนดมาตรการ สร้างบรรยากาศประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกัน

เพื่อสร้างสังคมไทยให้แข็งแรงพร้อมกันทุกช่วงวัย โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ก็จะต้องเป็นสังคมที่มีคนอายุยืนแต่ไม่อมโรค ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดี เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า

...

หยุดความสูญเสียทั้งพลังกาย พลังสมอง และเศรษฐกิจของประเทศ จากค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปกับการรักษาโรค NCDs และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับสังคมไทย

เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งอโรคยา ปรมาลาภา... ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ.

ทีมข่าวสาธารณสุข