การแต่งตั้งโยกย้าย ในกองทัพ ไม่ค่อยมีปัญหาภายใน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระเบียบที่กำหนดเอาไว้ชัดเจน เป็นหน้าที่ของผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นผู้เสนอรายชื่อโดยมี รมว.กลาโหมปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ เป็นคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ในส่วนของ ภาคการเมือง ไม่ค่อยมีใครกล้าไปยุ่งวุ่นวายกับกองทัพ อย่างที่ทราบกันดี

การแต่งตั้งโยกย้ายใน กองทัพบก ได้รับความสนใจมากที่สุด พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ลงนามปรับย้ายนายทหารระดับ ผู้บังคับกองพัน ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งจำนวน 398 นาย

ในส่วนที่คุมกำลังสำคัญ กองทัพภาคที่ 1 ที่จะมีบทบาทในการควบคุมความสงบเรียบร้อยและมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกครั้ง พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 4 รอ.พล.1 รอ. ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองยุทธการ มทบ.11 พ.ท.พิชเญนทร์ พรประสิทธิ์ ขึ้นมาเป็น ผบ.ม.พัน 4 รอ.พล.1 รอ. พ.ท.ไพโรจน์ พรหมตรุษ เป็น ผบ.ม.4 พัน 25 รอ. พ.ท.พลชัย สุขสะอาด เป็น ผบ.ม.พัน 30 รอ.พล.ร.2 รอ. พ.ท.ธีระทัฒน์ อัครพงศ์ธิติ เป็น ผบ.ม.พัน 2 รอ.พล.ร.2 รอ. พ.ท.พนมศักดิ์ ศิริจันทรวัจ เป็น ผบ.ม.พัน 19 พล.ร.9

ที่ได้รับความสนใจคือกองพล Stryker พล.ร.11 พ.ท.ปฐมพล วงพิเดช เป็นรองเสธ. พล.ร.11 พ.ท.สรรเสริญ ไพรโสภา เป็นเสธ. ร.111 พ.ท.อรรถพร ประชานุกูล เป็น ผบ.ร.112 พัน 1 และ พ.ท. กิตติพล พันธุรังษี เป็น ผบ.ร.111 พัน 2 เป็นต้น ส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนกำลังเพราะความไม่สงบรอบบ้านเรา

ทั้งหมดมีทั้งเหล่าราบ ทหารม้าที่คุมรถถัง ทหารปืนใหญ่ ที่มีการจัดกำลังหมุนเวียนทุกกองทัพภาค และเป็นกำลังหลักที่สำคัญของกองทัพ ถ้าจะมองไปถึงบทบาทของกองทัพในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การยึดอำนาจของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนว่ากองทัพจะกลับเข้าสู่ที่ตั้งมีบทบาททางการเมืองน้อยมาก

...

ซึ่งจะดูได้จากกระแสการต่อต้านการ ยึดอำนาจ หรือ การปฏิวัติรัฐประหาร โดยกองทัพจะเงียบไป ทั้งที่เคยมีการเสนอจากฝ่ายการเมือง ให้เขียนรัฐธรรมนูญป้องกันการปฏิวัติเอาไว้ด้วยซ้ำ ในความเป็นจริงก็เห็นกองทัพเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญด้วยความง่ายดาย นักการเมือง เป็นคนกวักมือให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจด้วยซ้ำไป

อีกเหตุผลก็คือ ที่ผ่านมาทั้งนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็มาจากกองทัพ เพราะฉะนั้นการที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจคนกันเอง โอกาสน้อยมาก ในอดีตเคยเกิดขึ้นสมัยของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากนั้นก็ไม่ปรากฏอีกเลย

การทำงานของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ค่อยจะไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของกองทัพ ดูจากการส่ง สุทิน คลังแสง ไปเป็นรมว.กลาโหม เป็นที่เข้าใจได้ว่าการเมืองจะไม่เข้าไปล้วงลูกในกองทัพแน่นอน

ปล่อยให้สุทิน คลังแสง ไปทำกับข้าวเลี้ยงชาวบ้านบ้าง พาไปดูพิพิธภัณฑ์บ้าง แม้แต่บรรดาที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ก็ไม่มีตัวตึง เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าใจว่ารัฐบาลเพื่อไทยคงได้รับบทเรียนจากกองทัพมามากที่สุดจากการเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา เลยต้องตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม แม้แต่เรื่องของเรือดำน้ำก็ทำท่าจะใส่เกียร์ถอยอีกแล้ว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม