ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ของผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่ประดู่หางดำ) ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่มีการรวมกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2546
ผลการติดตามหลังจากที่ทางกลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการปี 2565 โดยกรมปศุสัตว์ได้เข้ามาดำเนินการถ่ายทอดความรู้หลักสูตร “การเลี้ยงไก่พื้นเมืองพื้นถิ่น” ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าอัตลักษณ์ ให้สามารถมีศักยภาพเพียงพอต่อการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไก่พื้นเมืองไทย ประดู่หางดำเชียงใหม่
ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นคำขอ คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในปี 2567 สำหรับเทคนิคการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ เกษตรกรที่นี่มีเทคนิคเฉพาะ โดยจะให้อาหารและเสริมด้วยหญ้าเนเปีย เพื่อลดความเสี่ยงของอัตราการฟักไข่ที่ต่ำลง แม่พันธุ์ไม่ควรมีไก่เกิน 2 ตัวต่อตารางเมตร ในส่วนของไก่แม่พันธุ์หลังจากที่มีการออกไข่ฟองแรก เมื่อครบ 6 เดือน จะมีการทำพันธุ์ทดแทน และพอครบ 1 ปีจะทำการปลดระวาง
หลังจากไก่แม่พันธุ์ออกไข่ จะนำไปผสมโดยมีอัตราการผสมติดที่ 90% หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ผสมติดไปเก็บไว้ในตู้ฟักเป็นเวลา 18 วัน และจะย้ายมาจัดเก็บไว้ในตู้เกิดอีก 3 วัน จนลูกไก่ฟักออกมาจากไข่ซึ่งมีอัตราการฟักอยู่ที่ 77% โดยหลังจากฟักออกมาจากไข่ จะนำลูกไก่ไปขุนในเล้าอีก 60-65 วัน ให้มีน้ำหนักประมาณ 1 กก.
ด้านเทคนิคในการขุนไก่ของกลุ่มเกษตรกร จะเน้นให้อาหารปริมาณน้อยแต่ให้บ่อยตลอดทั้งวัน ด้วยการแขวนถาดอาหารให้อยู่สูงระดับหลังไก่ เพื่อไม่ให้ไก่คุ้ยดินตกลงไปในถาดอาหาร และมีความหนาแน่นในการเลี้ยงอยู่ที่ 8–10 ตัวต่อตารางเมตร เพื่อลดความเครียดของไก่
...
ส่วนด้านการตลาด เกษตรกรนิยมนำผลผลิตที่ได้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ไก่สดแช่แข็ง ไก่นึ่งสมุนไพร ไก่ย่าง และไส้อั่วไก่ เป็นต้น สามารถสร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มเดือนละกว่า 700,000 บาท หรือปีละ 8,400,000 บาท คาดว่าปี 2566 หลังจากกลุ่มเกษตรกรนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดจากโครงการจะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 9,120,000 บาท.
สะ–เล–เต