PM 2.5 ฝุ่นพิษ! ถึงนาทีนี้คงไม่ต้องอธิบายถึงความรุนแรงของฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศอย่างมหาศาลแค่ไหน

ตั้งแต่เดือน ม.ค.ต่อเนื่องถึง มี.ค. 2566 หลายพื้นที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีสถานการณ์จุดความร้อนสะสมทั่วประเทศสูงกว่า 56,400 จุด โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่ป่ามากกว่า 80% รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตร 15%

แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหา PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดมาตรการต่างๆให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องใน 3 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งมาตรการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง ตรวจจับรถควันดำ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร การชิงเก็บลดเผาในพื้นที่ป่า ฯลฯ

แต่ถึงแม้จะมีมาตรการคุมเข้มเพียงใด หากยังไร้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในทางปฏิบัติประชาชน จึงยังต้องเผชิญหน้ากับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น

...

ที่น่าหนักใจคือต้นตอของปัญหา PM2.5 มีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน ไม่ได้มีแค่ 1-2 หน่วยงานเท่านั้น

“สาเหตุของ PM2.5 ค่อนข้างซับซ้อนและมาจากพฤติกรรมของคนในเมืองและเกษตรกรในต่างจังหวัด ต้นตอสำคัญมาจากการเผาวัสดุการเกษตรทั้งในที่โล่งและที่ไม่โล่ง เช่น การเผาอ้อยก่อนตัด การเผาตอซังในไร่ข้าวโพดและนาข้าว เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัด ในบางพื้นที่มีการเผาเพื่อหาของป่า การเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่าและจับจองพื้นที่เพื่อทำมาหากิน นอกจากต้นเหตุที่เกิดภายในประเทศแล้ว ฝุ่นควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นอีกต้นตอหนึ่งโดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือที่อยู่ติดชายแดนพม่าอย่าง จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย และภาคตะวันออกที่ติดเขมร ฝุ่นควันดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจการจัดการของรัฐไทย ขณะที่ในเขตเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ต้นตอที่ทำให้เกิด PM2.5 มากที่สุดมาจากไอเสียจากรถยนต์ผนวกกับการจราจรที่ติดขัด โดยเฉพาะจากพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดเขม่าและฝุ่นควันมาก เป็นต้น” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวถึงสาเหตุของปัญหา PM2.5

จตุพร บุรุษพัฒน์
จตุพร บุรุษพัฒน์

ที่สำคัญ นายจตุพร ได้เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหา PM2.5 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้ลงพื้นที่ติดตามการบูรณาการการดำเนินงานตามมาตรการของหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ยกระดับปฏิบัติการอย่างเข้มงวดเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นพิษ PM2.5 จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ล่าสุดวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กก.วล. ได้มีมติชัดเจนในการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นพิษ PM2.5 ในสถานการณ์วิกฤติพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สั่งห้ามเผาในทุกพื้นที่ ตั้งแต่วันนี้-30 เม.ย.2566 พร้อมใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นรวมทั้งพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการต่างๆตามที่กำหนดเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

...

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โดยมีแผนการดำเนินงานและมาตรการเร่งด่วน คือให้ ทส. ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง ระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยานในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น ให้กระทรวงมหาดไทยกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้งดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้ ให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร จำกัดเวลา พื้นที่และปริมาณสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด ให้ทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย จัดห้องปลอดฝุ่น แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงยารักษาโรค เป็นต้น

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

...

“แต่ที่สำคัญที่จะเห็นผลตั้งแต่ปีหน้า 2567 คือแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับ ปี 2567–2570 โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบบูรณาการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและสนับสนุนงบ ประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อุดหนุนให้กับ อปท. ที่สำคัญให้ ทส. กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังกำหนดมาตรการจูงใจในการนำรถเก่าออกจากระบบ และมาตรการจำกัดปริมาณรถ และโรงงานรวมทั้งเพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ให้จัดทำ แผนการ/มาตรการลดและจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนฯ รายพื้นที่ ให้เข้มงวดมาตรการปลอดการเผาสำหรับพื้นที่เกษตรในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าว เช่น กำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการเพิ่มมูลค่าวัสดุชีวมวลทางการเกษตรโดยให้หน่วยงานจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการฯ นอกจากนั้นให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าทางเกษตรที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5 เป็นต้น” นายจตุพร ระบุ

...

เรียกว่าเป็นความพยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นการขับเคลื่อนประกาศวาระแห่งชาติเพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง และพยายามทำให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยกับมาตรการแก้ปัญหา PM2.5 แต่สิ่งที่เราต้องขอฝากไว้คือการต่อสู้เพื่อพิชิต PM2.5 เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชนและประชาชน

เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับประชาชนโดยเร็ว อย่าให้สังคมไทยต้องอยู่กับฝุ่นพิษ PM2.5 และมีชีวิตแบบตายผ่อนส่งอยู่แบบนี้เลย.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม