ปัจจุบันหลังจาก สถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” คลี่คลาย ธุรกิจหลายสาขาทั้งส่งออก ก่อสร้าง ร้านอาหาร มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยก็มีทีท่าว่าจะสดใส คนไทยจำนวนมากกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานอีกครั้ง
บางส่วน...เห็นลู่ทาง “ลงทุน” พร้อมที่จะเริ่มธุรกิจเล็กๆด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาพร้อมกับความต้องการจ้างงานในประเทศไทย ไม่ได้มีเพียงโอกาสของคนไทยเท่านั้น หากแต่ยังมี “แรงงานต่างชาติ” จำนวนมากที่มองเห็นถึงโอกาสนี้
“กระทรวงแรงงาน” ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการชาวไทย ซึ่งอยู่ในย่านการค้าที่คนไทยนิยมจับจ่ายใช้สอยและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย...ต่างชาติ ว่ามีคนต่างชาติที่สงสัยว่าเข้ามาประกอบธุรกิจแบบไม่ถูกกฎหมาย ใช้ “นอมินีคนไทย” จดทะเบียนตั้งบริษัทแย่งอาชีพคนไทย
อีกทั้งยังมีการ “จ้าง” ลูกจ้าง “ชาวต่างชาติ” เป็นพนักงาน

...
ที่ผ่านมา สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายเร่งด่วนสั่งการเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี “คนต่างด้าว”...ทำงานผิดกฎหมายฯของกรมการจัดหางาน ปูพรมตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุย พัทยา
ด้วยว่าพื้นที่เป้าหมายเมืองใหญ่เหล่านี้เป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนไทย ซึ่งหากตรวจสอบพบมีความผิดจะดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อยกเว้น
พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้
มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และนายจ้าง...สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000–200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
“หากแรงงานต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบทำงานห้าม หรือลักลอบเป็นเจ้าของกิจการเสียเอง จะสร้างผลกระทบให้คนไทยมีโอกาสได้งานทำน้อยลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และอาจเป็นสาเหตุทำให้คนไทยต้องเลิกประกอบอาชีพสงวน” สุชาติ ว่า

ปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ต.ค.65-12 มี.ค.66) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศ 18,966 แห่ง ดำเนินคดี 685 แห่ง ตรวจสอบคนต่างชาติ 240,918 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 177,134 คน กัมพูชา 40,750 คน ลาว 12,311 คน เวียดนาม 140 คน และสัญชาติอื่นๆ 10,583 คน...
มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,550 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 846 คน กัมพูชา 245 คน ลาว 269 คน เวียดนาม 65 คน และสัญชาติอื่นๆ 125 คน ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 883 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 392 คน กัมพูชา 195 คน ลาว 139 คน เวียดนาม 55 คน อินเดีย 68 คน และสัญชาติอื่นๆ 34 คน
น่าสนใจว่า...อาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงคนไทยถูกแรงงานต่างชาติแย่งงาน แย่งอาชีพ ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอย่างรอบคอบ เป็นระบบ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย

...
กระทรวงแรงงานก็ขานรับ ใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในทุกจังหวัด
ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เสริมว่า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา
เช่นเดียวกับที่เวลาคนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง
รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ไม่ทำงานที่ห้ามแรงงานต่างชาติทำ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งมีทั้งสิ้น 40 งาน แบ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนถึงจะทำได้ ดังนี้...
บัญชีที่ 1 งานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ได้แก่ งานแกะสลักไม้, งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก, งานขายทอดตลาด, งานเจียระไนเพชร...พลอย, งานตัดผม...เสริมสวย, งานทอผ้าด้วยมือ, งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย, งานทำกระดาษสาด้วยมือ, งานทำเครื่องเขิน
งานทำเครื่องดนตรีไทย, งานทำเครื่องถม, งานทำเครื่องทอง เงิน นาก, งานทำเครื่องลงหิน, งานทำตุ๊กตาไทย, งานทำบาตร, งานทำผ้าไหมด้วยมือ, งานทำพระพุทธรูป, ทำร่มกระดาษ...ผ้า, งานนายหน้า...ตัวแทน

...
งานนวดไทย, งานมวนบุหรี่, งานมัคคุเทศก์, งานเร่ขายสินค้า, งานเรียงอักษร, งานสาวบิดเกลียวไหม, งานเลขานุการ และงานบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 มีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทย
เท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม
และ บัญชี 3 มีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง ได้แก่ งานกสิกรรม, งานช่างก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างก่อสร้างอาคาร, งานทำที่นอน, งานทำมีด, งานทำรองเท้า, งานทำหมวก, งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย, งานปั้นเครื่องดินเผา
บัญชีที่ 4 มีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

ที่ผ่านมากรมการจัดหางานควบคุมจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ โดยอนุญาตการนำเข้าแรงงานตาม MOU เท่าที่จำเป็นตามที่นายจ้าง สถานประกอบการในประเทศไทยแจ้งความต้องการเท่านั้น และยังป้องกันปัญหาการแย่งอาชีพคนไทยด้วยการกำหนดงานที่ห้ามแรงงานต่างชาติทำ
...
ภายใต้ประกาศกระทรวงแรงงาน “เรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ” เพื่อไม่ให้กระทบกับโอกาสในการทำงานของคนไทย ย้ำว่า... เหตุผลที่ต้องเข้มงวดเช่นนี้เพราะการมีแรงงานระดับล่างเพิ่มเกินความจำเป็น ส่งผลต่อ “อัตราค่าจ้าง” แรงงานไทยที่อาจได้รับต่ำลง
ปัญหา “แรงงานต่างด้าว” เป็นอีกเรื่องสำคัญที่กรมการจัดหางาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อบริหารจัดการตลาด แรงงานให้เกิดความสมดุล ยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม.
