บทที่ 2 ในหนังสือ ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (เจ้าหยุย รจนร อธิคม สวัสดิญาณ แปล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549) เริ่มต้นว่า

การจำแนกและการตรวจสอบความสามารถของบุคลากร คือรากฐานแห่งการปกครองราชอาณาจักร

(ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองสาละวนอยู่กับเลือกใช้คน...คนเป็นผู้นำ น่าจะลองอ่านดู เผื่อจะใช้ได้ในสถานการณ์ ใกล้รบหักหาญเต็มทีนี้)

หากมิใช่อัจฉริยปราชญ์จะมีผู้ใดรู้แจ้งเชี่ยวชาญการทั้งปวงบนแผ่นดินเล่า

กษัตริย์ซุ่นจึงรวบรวมบริวารและปวงราษฎร์มอบตำแหน่งหน้าที่ให้ตามสติปัญญาความสามารถ

แม้แต่อัจฉริยบุคคลทั้งสาม (จางเหลียง เซียวเหอ หานซิ่น) สมัยราชวงศ์ฮั่น สร้างคุณงามความดีไว้มากมาย ยังได้รับพระราชทานศักดินาและหน้าที่ลดหลั่นต่างชั้น

จึงมิใยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่นๆในสภาพสลับซับซ้อนผิดแผกกันจักตำหนิเรียกร้องให้สมบูรณ์พร้อม แลให้ยศศักดิ์ทุกผู้เสมอกันทุกผู้ทุกนาม หาได้ไม่

อีอิ๋น หัวหน้างานปลูกสร้างในบุรพกาลมอบหมายหน้าที่ให้ชายร่างกำยำแบกดิน ให้คนตาบอดหมุนแกนแท่นกลึง ให้คนหลังค่อมปรับทาง ทุกคนต่างได้งานที่เหมาะสม สามารถใช้ข้อเด่นของตนอย่างเต็มที่

ก่วนจ้ง (มหาเสนาบดีแคว้นฉี) กราบทูลฉีหวนกงว่า “ความเชี่ยวชาญด้านจารีตประเพณี ข้าน้อยไม่อาจเทียบกับสีเผิง ฝ่าบาทได้โปรดแต่งตั้งเป็นเสนาบดีราชพิธีด้วยเถิด

ด้านบุกเบิกที่ดิน ชักน้ำเข้านา สะสมเสบียงอาหาร ข้าน้อยไม่อาจเทียบได้กับหนิงซี ฝ่าบาทได้โปรดแต่งตั้งเป็นเสนาบดีเกษตรด้วยเถิด

ด้านรบทัพจับศึก บัญชากระบวนการรถศึกโดยไม่สับสน ปลุกเร้านักรบไพร่พลรุกคืบอย่างกล้าหาญ แม่ทัพนักรบไม่ประหวั่นพรั่นพรึง ข้าน้อยไม่อาจเทียบได้กับคุณชายเฉิงฟู่ ฝ่าบาทได้โปรดแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหมด้วยเถิด

...

ด้านสอบสวนตัดสินคดีความ โดยชนผู้บริสุทธิ์มิต้องหวั่นเกรงทัณฑ์ทรมานหรือถูกให้ร้าย ข้าน้อยไม่อาจเทียบได้กับปิ้นชวีอู๋ ฝ่าบาทได้โปรดแต่งตั้งเป็นเสนาบดียุติธรรมด้วยเถิด

ด้านซื่อสัตย์กล้าทัดทาน แลถวายคำปรึกษา โดยมิเกรงกลัวถูกบั่นเศียร ไม่ค้อมหัวให้เงินทองยศศักดิ์อำนาจอิทธิพล ข้าน้อยไม่อาจเทียบกับตงกวอหยา ฝ่าบาทได้โปรดแต่งตั้งเป็นอำมาตย์ด้วยเถิด

หากฝ่าบาทเพียงต้องการปกครองประเทศและเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งเกรียงไกร ได้เสนาอำมาตย์ทั้งห้าคนนี้ไว้ช่วงใช้ ก็เกินพอแล้ว

แต่ถ้าฝ่าบาทต้องการเป็นอธิราชเหนือสามนตราชทั้งปวงแล้ว ก็จำเป็นต้องได้ข้าน้อย ดำเนินกุศโลบายรับผิดชอบสามนตรัฐทั้งหมด จึงสำเร็จ”

หางสือกง (นักแสวงวิเวกธรรมปลายยุคราชวงศ์ฉิน ผู้ถ่ายทอดพิชัยสงครามไท่กง แก่จางเหลียง) กล่าวว่า

ผู้รู้แจ้งในพิชัยสงคราม ย่อมสันทัดในการใช้สติปัญญา ความกล้าหาญ ความละโมบ และความเขลาของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ คนมีสติปัญญานิยมสร้างคุณงามความดี คนกล้าหาญมักกระทำการตามอำเภอใจ

คนละโมบมักแสวงหาผลประโยชน์ และคนเขลาไม่รักตัวกลัวตาย

การใช้คนตามอุปนิสัยสันดานมนุษย์ นี่คือศิลปะแห่งการใช้คนอย่างพลิกแพลง

ผมตั้งใจคัดลอกหลักสำคัญการเลือกใช้คนมาถึงตรงนี้ ตอนแรกคิดว่า นี่คือวิชาของผู้นำ แต่ก็นึกขึ้นได้ กฎกติกาประชาธิปไตย อำนาจในการเลือกใช้คน เป็นของชาวบ้านอย่างเราๆทุกคน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้คนจึงไม่จำเพาะเจาะจงแต่คนเก่งคนดี คนโง่คนโลภคนเลว ฯลฯ ก็ใช้ได้ในสถานการณ์ที่จะได้ประโยชน์ คงจะว่ากันไม่ได้ หากพวกเราจะเลือกโจร

ในภาวะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยโจร เราอาจต้องใช้โจรไปจับโจร หรืออาจใช้โจรปล้นโจร เพื่อเอาคืนจากโจร แปดเก้าปีมานี่ พวกโจรมันปล้นเราไปมากมายเหลือเกิน.

กิเลน ประลองเชิง