ความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “ช้างป่า” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาเป็นเวลานานนับสิบๆปีแล้ว ปัญหา “ช้างป่า” ที่มีประมาณ 3,208-3,480 ตัว กระจายอาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์อย่างน้อย 69 แห่งทั่วประเทศและมีอย่างน้อย 49 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 29 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 แห่ง ที่มีชุมชนและประชาชนได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่ออกจากป่าไปหากินในพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน จนเกิดการกระทบกระทั่งเสียชีวิตทั้งคนและช้าง
จากสถิติ 3 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2563–2565 พื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 354 คน รองลงมากลุ่มป่าตะวันออก 320 คน กลุ่มป่าแก่งกระจาน 236 คน กลุ่มป่าตะวันตก 206 คน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว 159 คน เป็นต้น
ยิ่งนับวันปัญหาความขัดแย้งยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น

“แน่นอนภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างหรือคณะกรรมการช้างชาติขึ้น เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการงานด้านการอนุรักษ์ จัดการและแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาและแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และจัดการช้าง ทั้งช้างป่าและช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน โดยการแก้ไขปัญหาช้างป่า ได้กำหนดแนวทางการจัดการและแก้ปัญหาเป็น 3 ระดับ คือ 1.การจัดทำร่างแผนการจัดการช้างป่าแห่งชาติ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบในการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า 2.การวางแผนจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า ในระยะ 10 ปี และ 3.แผนการจัดการช้างป่าระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 5 กลุ่มป่า ได้แก่ 1.กลุ่มป่าตะวันออก 2.กลุ่มป่าแก่งกระจาน 3.กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 4.กลุ่มป่าตะวันตก 5.กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และพื้นที่กลุ่มป่าในภูมิภาคอื่นๆอีกทั้งสิ้น 7 กลุ่มป่า” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะกรรมการอนุรักษ์และ จัดการช้างกล่าวถึงมาตรการเร่งด่วน
...

ปลัด ทส. ยังระบุรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาด้วยว่า ต้องมีการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้างและโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ และพัฒนาพื้นที่แนวกันชน ที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชน รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่างๆโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวาง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อาทิ รั้ว คูกั้นช้างรั้วไฟฟ้า
ที่สำคัญต้องพัฒนาพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มจากการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชน ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชนถึงพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกันและแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีการจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการผลักดันช้างป่า” โดยเฉพาะใน 16 กลุ่มป่า ซึ่งมีปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลอาสินของประชาชน รวมถึงจัดตั้ง “กองทุนเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า” ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง ความเป็นไปได้
เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญของคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง คือ ทำอย่างไรที่จะให้ช้างกลับเข้าป่า และทำให้ช้างป่าออกมาจากป่าให้น้อยที่สุด
ดังนั้น การรักษาทั้งช้างและรักษาป่าไปพร้อมๆกันจึงสำคัญ เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาช้างป่าคือรักษาช้าง แต่ไม่รักษาป่า ความไม่สมดุลจึงเกิดขึ้น

...
“ปัญหาผลกระทบจากช้างป่าสาเหตุมาจากประชาชนและชุมชนเพิ่มขึ้น มีความต้องการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากขึ้น จึงมีการขยายพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนชิดแนวขอบป่ามากขึ้น พืชเกษตรบางชนิดมีรสชาติและกลิ่นที่ดึงดูดช้างป่า ส่งผลให้ช้างป่าออกมาหากินพืชเกษตรของชุมชนบ่อยครั้ง เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งประชาชนและช้างป่า ขณะที่แนวโน้มประชากรช้างป่ามีเพิ่มขึ้น เกินความสามารถในการรองรับของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกิดเป็นกลุ่มป่า เกาะป่า ไม่ได้มีพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่เป็นผืนเดียวกันเหมือนในอดีต จึงทำให้ช้างป่ามีความต้องการใช้พื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรหรือสวนป่า ทำให้ช้างป่าออกมาใช้พื้นที่นอกป่าอนุรักษ์บ่อยครั้ง ดังนั้น เราต้องดูแลป่าไปพร้อมๆกับการรักษาช้างป่า” นายจตุพร กล่าว


...
สำหรับประชากรช้างป่าปัจจุบันจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่า กลุ่มป่าตะวันตก มีจำนวนช้างป่ามากที่สุดระหว่าง 642-734 ตัว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 533-586 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน 487-500 ตัว กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว 492-493 ตัว กลุ่มป่าตะวันออก 463 ตัว กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 100-140 ตัว เป็นต้น
แน่นอนเมื่อประชากรช้างป่ามีจำนวนมาก การแก้ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้ง่าย
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า แม้การแก้ปัญหาอาจไม่ง่าย แต่เชื่อว่า ภายใต้กลไกของ “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง” ที่จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันจะมีมาตรการที่สามารถคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คน” กับ “ช้างป่า” ลงได้ระดับหนึ่ง
เพื่อสร้างสมดุลระหว่าง “คน-ช้าง-ป่า” ลดความขัดแย้งและตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันแบบสันติอย่างยั่งยืน.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม