“โควิด-19” ที่คร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 3 หมื่นคน ติดเชื้อกว่า 4 ล้านคนช่วงการระบาดรุนแรง ผันแปร 3 สเต็ปจากโรคติดต่อร้ายแรงมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จนสุดท้ายกลายเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อผู้ป่วยและการระบาดลดลงตามลำดับ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยันประชาชนยังฉีดวัคซีนฟรีและหาวัคซีนรุ่นใหม่เพิ่มให้เพียงพอ ห่วงผู้อายุเกิน 60 ปี อีกเกือบ 2 ล้านคน ที่ยังไม่เคยสัมผัสเข็มฉีดวัคซีนขอให้มารับการฉีดป้องกันเพื่อความปลอดภัยหลังวันที่ 1 ต.ค. มีการปลดปล่อยผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เช่นเดียวกับสำนักอนามัย กทม.ยังบริการฉีดวัคซีนฟรีเช่นกัน “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” ร่วมปิดศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ด้านศิริราชถอดบทเรียน “โควิด-19” ที่ระบาดจนไทยเกิดวิกฤติช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

“โรคโควิด-19” ไวรัสอันตรายที่เคยระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย เดินทางมาถึงวันสุดท้ายของการเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและเริ่มต้นการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังให้ผู้คนใช้ชีวิตวิถีใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ถึงการบริหารจัดการวัคซีนเมื่อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า วันที่ 1 ต.ค. กระทรวงจะให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ให้เพียงพอ ไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี อีก 1,954,496 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงขอให้มารับวัคซีน โดยเฉพาะ 1 ต.ค. ที่มีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น จึงจำเป็นต้องรับวัคซีน และรับเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการเสียชีวิต

ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปลายทางของโควิด-19 แล้วเพราะทั่วโลกฉีดวัคซีนมากขึ้น เชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง คนที่ยังต้องระวังคือคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และยังต้องติดตามจนถึงปีใหม่ว่าจะพบการกลายพันธุ์อะไรอีกหรือไม่และยังไม่สามารถกำหนดหรือคาดการณ์ระยะเวลาที่แน่ชัดว่าภายใน 1-2 ปี จะกลับมาระบาดอีกหรือไม่ รู้เพียงว่ามีโอกาสกลับมาระบาด คนมีภูมิคุ้มกันดีอาจเป็นแค่เชื้อไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์อยู่เรื่อยจะเจอสายพันธุ์ใหม่ๆหากติดเร็วแต่ไม่รุนแรงถ้าทุกคนมีภูมิคงควบคุมได้ ศิริราชกำลังสรุปถอดบทเรียนช่วง 2 ปีกว่าที่โควิด-19 ระบาด แต่ละแห่งต้องช่วยกันถอดบทเรียนในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

...

เมื่อถามถึงการถอดหน้ากากกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่หลัง 1 ต.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า วิถีใหม่หรือนิวนอร์มอลไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก นิวนอร์มอลคือใครอยากใส่ก็ใส่ไม่อยากใส่ก็ไม่ใส่ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดการละเมิดสิทธิ์ สำหรับตนยังอยากให้ใส่เพื่อไม่ต้องกังวลโรคต่างๆ แต่คนจะใส่น้อยลงแน่ นิวนอร์มอลแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เป็นการดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกันตนเอง

อีกด้านที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีการจัดพิธีปิดศูนย์ฉีดวัคซีน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พร้อมผู้บริหารทั้ง 2 กระทรวง เครือข่ายจิตอาสาจาก 251 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธี พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ์ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ศูนย์เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2564-30 ก.ย.2565 รวม 477 วัน มีเครือข่ายจิตอาสาจาก 251 หน่วยงานรวมกว่า 7,000 คน มาช่วยงาน ฉีดวัคซีนไปแล้ว 6.5 ล้านโดส หรือประชาชน 3.3 ล้านคน ใช้เวลาเฉลี่ยคนละ 55 นาที การปิดศูนย์เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกว่าประเทศไทยได้ผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้แล้วและพร้อมที่จะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างมั่นคง

นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมกันบริหารจัดการศูนย์วัคซีน ทั้งให้บริการทางการแพทย์ การเป็นจิตอาสาด้านต่างๆ ขณะที่นายศักดิ์สยามกล่าวว่า วันที่ 30 ก.ย. จะเป็นวันสุดท้ายที่จะสวมหน้ากากอนามัยต่อไปไม่ต้องกลัว เพราะมีคนมาฉีดวัคซีนที่ศูนย์นี้ 3.3 ล้านคน หากเกิดวิกฤติขึ้นอีก สถานีนี้พร้อมกลับมาให้บริการภายใน 1 วัน แต่เชื่อว่าคงไม่ต้องใช้

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนัก อนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังวันที่ 1 ต.ค. กทม.ยังให้บริการวัคซีนตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง จะเน้นกลุ่ม 608 ให้เกิน 70% จึงเปิดบริการนัดหมายและวอล์กอิน เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง รพ.ในสังกัด กทม.ทุกแห่ง ยังให้บริการตามปกติ ศูนย์ฉีดวัคซีนกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เปิดทุกวัน 08.00-16.00 น. และยังให้บริการฉีดวัคซีนผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านด้วย

ขณะเดียวกัน ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยวันสุดท้ายว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 839 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 9 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 4,681,309 ราย หายป่วยสะสม 4,642,083 ราย เสียชีวิตสะสม 32,764 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก ผู้ติดเชื้อสะสม 622,370,893 ราย เสียชีวิตสะสม 6,547,074 ราย