นายกฯประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ย้ำเฝ้าระวังโควิด กลายพันธุ์ ห่วง 608 ไม่สนวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จ่อเลิกประกาศใช้ยังอยู่ในขั้นตอน โฆษก ศบค.เผยผลการประชุม เดือน ก.ย. เปิดให้ซื้อขายยาโควิด ในร้านขายยาได้ตามใบสั่งแพทย์ เดือน ต.ค. เตรียมลดบทบาท ศบค. นอกจากนี้ยังให้ขยายเวลาพำนักในไทยหวังดูดเงิน นทท.ต่างชาติ ด้านที่ปรึกษา ศบค.ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเรื่องจำเป็น “หมอประสิทธิ์” ค้านเปิดผับถึงตี 4

ศบค.ประชุมหารือเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 19 ส.ค. นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ศบค.ถึงการพิจารณาให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. และต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยกเลิกแน่นอน เรื่องนี้ได้หารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค.ไม่ได้ขัดข้อง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เริ่มเบาลง หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันที่ 1 ต.ค. ศบค.ต้องหายไปด้วยและอาจนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯกลับมาปัดฝุ่นใช้เพิ่มความเข้มแข็ง ตั้งให้มีหน่วยงานคล้าย ศบค.เพื่อช่วยประสานงาน โดยอาจปรับมาเป็นรูปแบบของคณะกรรมการร่วม แต่ข้อสรุปต้องรอการประชุมก่อนครบกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินวันที่ 30 ก.ย.อีกครั้ง แต่แนวโน้มคงจะยกเลิก

ต่อมาที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานประชุม ศบค.ครั้งที่ 11/2565 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังระบาดอยู่โดยเฉพาะโอมิครอน BA.4-BA.5 ช่วงเดือน มิ.ย.จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเป็นไปตามประมาณการและคงที่ ผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในการคาดการณ์ ขอให้กระทรวง สาธารณสุขเฝ้าระวังและติดตามการกลายพันธุ์เตรียมเรื่องยา เตียง ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและการพัฒนาวัคซีน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการค้าขาย การสัญจรไปมา การท่องเที่ยว ส่วนตัวรู้สึกอุ่นใจที่ยังเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยอยู่จำนวนมาก

...

เวลา 11.35 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุมว่า เป็นการประชุมรับทราบโดยรวมทั้งการแพร่ระบาด การเตรียมการมาตรการรองรับต่างๆทุกระดับ ทำอย่างไรให้คนไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากยิ่งขึ้น ให้ความสำคัญกับคนกลุ่ม 608 มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากฉีด คิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว อันตรายพอสมควรแม้เป็นการฉีดแบบสมัครใจ อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ อย่าเพิ่งคิดว่าสถานการณ์ลดลงแล้ว ขอร้องให้ทุกคนไปฉีดเข็มกระตุ้น มีให้เลือกอยู่แล้วถ้าทุกคนไม่สบายใจยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้สามารถเลือกฉีดได้ เพื่อตัวเองและคนอื่นด้วย แต่ทั้งนี้เรายังสามารถรับมือได้อยู่หลายๆอย่างด้วยกัน วันนี้มีความก้าวหน้าวัคซีนผลิตเองไประยะที่ 3 แล้ว

นายกฯกล่าวอีกว่า สิ่งที่ห่วงและกังวลในตอนนี้คือการท่องเที่ยวกำลังเดินหน้า การเปิดสถานประกอบการ ศูนย์การค้า ร้านอาหารต่างๆมากขึ้น ดังนั้น ถ้าทุกคนช่วยกันจะเดินหน้าไปด้วยดี ยืนยันทุกอย่างสามารถดูแลได้ เมื่อถามถึงการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯตอบว่า อยู่ในขั้นตอนพิจารณา การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเสริมเท่านั้น ถ้าสามารถลดระดับลงได้ก็พร้อมที่จะลดให้ ไม่ได้มุ่งหวังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อ ประเด็นอื่นเลย เพื่อความปลอดภัยเรื่องโควิด-19 เท่านั้นคือสิ่งสำคัญ เพื่อให้หลายหน่วยงานได้ทำงานร่วมมือกัน ขอให้มองในแง่ดีบ้าง มีแล้วเกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีมันจะเกิดอะไรขึ้นก็ลองดูแล้วกัน

จากนั้น เวลา 12.00 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงภายหลังประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,110 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย ติดเชื้อสะสม 4,630,310 ราย หายป่วยสะสม 4,578,291 ราย เสียชีวิตสะสม 31,971 ราย ระหว่างวันที่ 7-13 ส.ค. มีผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวกแล้วเข้ารับบริการเจอ แจก จบ OPSI 218,042 ราย เฉลี่ยวันละ 31,148 ราย ตั้งแต่เดือน มี.ค.-13 ส.ค. มีผู้รับบริการแบบเจอ แจก จบ รวม 7,088,138 ราย ขณะที่อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 14.8% ถือว่าไม่เกินศักยภาพของการดูแล ยารักษาโควิด-19 ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ยังมีเพียงพอ ในเดือน ก.ย.จะเพิ่มระบบสนับสนุนยาโดยให้หน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถจัดซื้อยาได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. รวมถึงร้านยาสามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ตามใบสั่งแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เช่นกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic หรือระยะหลังการระบาดใหญ่ โดยหารือด้านการป้องกันว่า ขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ แต่จำนวนอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูง ภาพรวมประชาชนในไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 หลังจากนี้ลักษณะการเกิดโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ จะพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี ด้านการรักษาอาการผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง การใช้ยา การรักษาที่ รพ.ควรใช้เฉพาะกลุ่มผู้มีอาการ การแยกกักตัวใช้เวลา 10 วัน คือ แยกกักตัว 5 วัน อีก 5 วัน ให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัด กรอบระยะเวลานั้นในเดือน ก.ย.จะให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะปรับให้โรคระบาดเฉพาะพื้นที่และตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป บทบาทของ ศบค.จะลดลงหันไปใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะ ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะเข้ามาดำเนินการ ส่วนนี้ แต่ในที่ประชุมไม่ได้พูดถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะประเมินสถานการณ์กันต่อไป เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือนก.ย.

...

โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยังมีข่าวดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การเภสัชกรรม มีความก้าวหน้า เตรียมขึ้นทะเบียนในปี 66 -67 ตามลำดับ ขณะที่การฉีดวัคซีนในไทย ฉีดไปแล้วกว่า 142 ล้านโดส มีอาการไม่พึงประสงค์ เสียชีวิตเพียง 6 คน ถือว่าน้อยมากถ้าดูยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่ม 608 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มี 9,373 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 5,260 ราย ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลยืนยันแล้วว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตต่ำ ไทยมีวัคซีนคงคลังรวม 8 ล้านโดส ถือว่ามีความเพียงพอในการฉีดให้กับประชาชน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศว่าในเดือน ก.ค.มีผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 1.07 ล้านคน มากกว่าเดือน มิ.ย.ที่มีเพียง 7.6 แสนคน ถ้าดูรายได้จากการท่องเที่ยวพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ส.ค. มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 176,311 ล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ 377,740 ล้านบาท จึงต้องมาหาแนวทางให้ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ทั้งการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนการใช้จ่ายภายในประเทศและที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยขยายเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราการเข้าประเทศ จากไม่เกิน 30 วัน เป็น 45 วัน ขยายเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับ Visa On Arrival จากไม่เกิน 15 วัน เป็น 30 วัน ตั้งแต่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.66 โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สตม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป

...

อีกด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการขยายเวลาเปิดผับบาร์ 04.00 น. ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเปิดผับบาร์ถึง 04.00 น. มองว่ามากเกินไป สถานการณ์โควิดควรค่อยๆผ่อนมาตรการต่างๆ เปิดแบบเดิมแค่เวลา 02.00 น. พอดีอยู่แล้วยังไม่ต้องรีบ เพราะ วัยทำงานที่มาเที่ยวมีการพบปะคนติดเชื้อ จะนำเชื้อกลับไปให้กับผู้สูงอายุเกิดการติดเชื้อในบ้านได้

วันเดียวกัน องค์การอนามัยโลกแถลงยอดผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลก ลดลง 24% จากสัปดาห์ที่แล้ว โดยทวีปแอฟริกาและยุโรปลดลงเกือบ 40% ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในทวีปเอเชียและแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 35% นับตั้งแต่เดือน ก.ค. และเฉพาะสัปดาห์ที่แล้วมีผู้เสียชีวิต 15,000 ราย นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท วัลเนวา (Valneva) ผู้ผลิตยาสัญชาติฝรั่งเศส เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายสำหรับคนอายุ 18-50 ปี สตรีตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ฉีดได้ รวมทั้งใช้ฉีดกระตุ้นให้ผู้เคยรับวัคซีนเชื้อตาย เช่น แอสตราเซเนกา แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นบูสเตอร์สำหรับผู้เคยรับวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ