นายกฯย้ำหลังหมดช่วงวันหยุดยาวขอประชาชนที่เดินทางไปที่ต่างๆควรตรวจเอทีเคก่อนกลับเข้าทำงาน หลังผู้ป่วยโควิดอาการอักเสบยังเพิ่มต่อเนื่องทะลุไปกว่า 900 คน ส่วนกทม.ไม่แผ่ว เขตราชเทวีเจอผู้ติดเชื้อสูงสุด 359 คน ด้าน “หมอธีระ” ชี้คนติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแยกกักตัวแค่ 5 วันไม่เพียงพอ หากจะปลอดภัยไม่แพร่เชื้อต่อ ควรเป็น 14 วัน พร้อมระบุกรณี ปธน.สหรัฐฯ ตรวจพบติดเชื้อซ้ำหลังหายป่วยแค่ 4 วัน มีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่พบน้อย ขณะที่ “หมอยง” ย้ำโรคฝีดาษลิงยากต่อการควบคุม ส่วนหนึ่งมาจากมักมีแผลในที่ลับ ทำผู้ป่วยไม่อยากพบแพทย์และโรคหายได้เอง

ไทยยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) อาการหนักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.รายงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. 1,664 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,663 คน ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,800 คน อยู่ระหว่างรักษา 23,161 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 925 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 460 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,590,176 คน หายป่วยสะสม 4,535,630 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 31,385 คน สำหรับภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 30 ก.ค.2565 ยอดฉีดทั่วประเทศ 35,135 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 : 2,931 ราย เข็มที่ 2 : 4,072 ราย และเข็มที่ 3 : 28,132 ราย มียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 รวมทั้งสิ้น 141,573,519 โดส

...

ขณะที่ กทม.พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,040 คน เป็นป่วยอยู่ใน กทม. 880 คน ผู้ป่วยใน ตจว.เข้ามารักษา 160 คน ผู้เสียชีวิตประจำวัน 4 ศพ ส่วน 10 เขต พบผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ 1.ราชเทวี 359 คน 2.พญาไท 34 คน 3.บางซื่อ 30 คน 4.ห้วยขวาง 28 คน 5.ดินแดง 24 คน 6.บางกะปิ 21 คน 7.บางนา 19 คน 8.ดุสิต 18 คน 9.ประเวศ 18 คน และ 10.ดอนเมือง 17 คน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงอยากให้ประชาชนเน้นปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข Universal Prevention อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวไปพักผ่อนและท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ หรือเดินทางข้ามจังหวัด

ในช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน แนะนำก่อนกลับเข้าทำงาน ควรตรวจเอทีเคเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากพบอาการน่าสงสัยจะติดเชื้อ เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบากให้รีบตรวจเอทีเคซ้ำ หากติดเชื้อจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิ์ที่ตัวเองมีอยู่

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชาชนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ต่ำหรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ สามารถติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จ รูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ได้ที่สถานพยาบาล คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดสำรวจทำทะเบียนรายชื่อและจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับ LAAB ในแต่ละสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขรับมอบ LAAB ลอตแรกแล้วจำนวน 7,000 โดส เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส โดยที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่แตกต่างจากวัคซีน จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป มีกลุ่มเป้าหมายระยะแรก เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมภูมิคุ้มกันโควิดด้วย LAAB ได้ จากนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป จากการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำในประเทศไทยอยู่ที่ 500,000 คน ประกอบด้วย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสงประมาณ 200,000 คน ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง ประมาณ 10,000 คน ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยากดภูมิ ประมาณ 10,000 คน ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ ประมาณ 80,000 คน และผู้ป่วยไตวาย ประมาณ 200,000 คน รัฐบาลตั้งเป้าทุกรายจะต้องได้รับภูมิคุ้มกัน

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,159 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-28 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นร้อยละ 72.74 ส่วนใหญ่ ดูแลสุขภาพตนเองด้วยการดื่มน้ำมากๆ ร้อยละ 72.32 กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ร้อยละ 69.81 ทั้งนี้ คิดว่าการมีสุขภาพดีควรเริ่มต้นด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ ร้อยละ 75.91 ในขณะที่ประเทศ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างคิดว่าการดูแลสุขภาพเพื่อการชะลอวัย (Anti-Aging) มีความจำเป็นร้อยละ 96.38 ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของตนเองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 2,129.07 บาท สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอันดับ 1 คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ร้อยละ 52.99 รองลงมาคือ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ร้อยละ 51.43

...

วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ว่า สิ่งที่ควรทราบเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันสำหรับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นชัดเจนว่า การแยกตัวจากคนอื่นแค่ 5 วันนั้นไม่เพียงพอ มีโอกาสถึงร้อยละ 50 ที่จะยังมีเชื้อในร่างกายและแพร่ให้คนอื่นได้ หากแยกตัว 7 วัน ก็ยังมีโอกาสถึงร้อยละ 25

ในขณะที่ 10 วัน โอกาสแพร่เชื้อมีราวร้อยละ 10 แต่หลัง 14 วันไปแล้ว ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ว่าน่าจะปลอดภัย ดังนั้น หากเป็นไปได้ติดเชื้อแล้วแยกตัวสองสัปดาห์จะดีที่สุด แต่ถ้าต้องกลับมาทำงานที่จำเป็นก่อนสองสัปดาห์ ให้ตระหนักเสมอว่ามีโอกาสหลุด และแพร่ให้คนใกล้ชิดหรือคนที่พบปะด้วยในชีวิตประจำวัน จึงต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด โดย 1.เลือกใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่าหากเป็นไปได้ 2.ต้องแน่ใจว่าหายจากอาการป่วยแล้ว และควรตรวจ ATK ได้ผลเป็นลบ

รศ.นพ.ธีระระบุถึงโอกาสเป็นกลับซ้ำ (rebound) หลังได้ยาต้านไวรัส กรณีข่าวล่าสุด ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโรคโควิด-19 และได้รับยาต้านไวรัสจนครบไปแล้วนั้น ปรากฏว่าตรวจพบผลบวกอีกครั้ง หลังจากหายช่วงแรกไปเพียง 4 วัน ต้องทำการแยกตัวจากผู้อื่นอีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ ข้อมูลทางการแพทย์จากผลการศึกษาวิจัยนั้นพบว่า การเป็นกลับซ้ำนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ราวร้อยละ 5 แม้ในชีวิตจริง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหลายคนในอเมริกาจะมีความเห็นว่าอาจถึงร้อยละ 10 ก็ตาม การเป็นซ้ำนั้น มักเกิดหลังจากได้รับยาต้านไวรัสจนครบ ไม่มีอาการ และผลตรวจเป็นลบไปแล้วเฉลี่ย 2-8 วัน แล้วกลับมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ และ/หรือผลตรวจกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง (ATK ขึ้นมาเป็นสองขีด)

“คนไทยเราจำเป็นต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเป็นกลับซ้ำเพราะปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสมากขึ้น ดังนั้นหากช่วงแรกอาการหายไป แล้วเป็นกลับมาใหม่ หรือตรวจเป็นลบ แล้วกลับมาเป็นบวกใหม่ จำเป็นต้องแยกตัวออกจากสมาชิกในบ้าน หรือที่ทำงานอีกครั้ง ปฏิบัติตามระยะเวลาแยกตัวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ ส่วนคำถามที่ว่าจะต้องเริ่มยาเพื่อรักษาใหม่หรือไม่ ข้อมูลในปัจจุบันยังมีน้อยมาก คำแนะนำในการปฏิบัติตอนนี้คือ รักษาตามอาการไปก่อน ยังไม่ควรกินยาต้านไวรัสซ้ำ แต่ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ดูแล เพื่อจะได้เฝ้าระวัง สังเกตอาการและดูแลรักษาได้ทันท่วงที” รศ.นพ.ธีระระบุ

...

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา วัย 79 ปี ที่เคยป่วยและรักษาโรคโควิด-19 จนผลตรวจเป็นลบ ได้แค่ 4 วัน แต่ล่าสุดนายเควิน โอคอนเนอร์ แพทย์ประจำตัวนายโจ ไบเดน เปิดเผยว่านายไบเดนถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้งเมื่อวันที่ 30 ก.ค.กรณีนี้ไม่ใช่การติดเชื้อรอบใหม่แต่เป็นอาการ “รีบาวด์” เชื้อปรากฏขึ้นมาอีก ประธานาธิบดีไม่มีอาการอะไรน่าเป็นห่วง และอยู่ระหว่างการกักตัวรอบใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ นายไบเดนตรวจพบเชื้อโควิด-19

ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 21-25 ก.ค. (5 วัน) ได้รับ ยาต้านไวรัสแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ จากนั้นปลอดเชื้อ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค. (4 วัน) ก่อนเชื้อจะปรากฏขึ้นมาอีก อาการรีบาวด์แบบนี้พบได้น้อยมาก มีอัตราเพียงร้อยละ 1-2
ส่วนกรณีโรคฝีดาษลิงนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงลักษณะอาการของโรค ผู้ป่วยนอกแอฟริกา จะแตกต่างจากผู้ป่วยในแอฟริกา ว่าจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ จำนวน 197 คน พบในผู้ชายทั้งหมดที่เป็นชายรักชาย ลักษณะรอยโรคที่เกิดขึ้น กว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดที่อวัยวะเพศ รอบก้น ทวารหนัก เยื่อบุช่องปาก แม้กระทั่งต่อมทอนซิล ตุ่มที่เกิดขึ้นจะมีหลายระยะ กล่าวคือ สุกหรือแห้งไม่พร้อมกัน ตรงข้ามกับโรคที่เกิดในแอฟริกาที่จะพบตามแขนขา ศีรษะ และส่วนใหญ่จะเป็นระยะเดียวกันสุกพร้อมกัน ตามตำรา อาการไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวพบน้อยกว่าในแอฟริกา ที่เกิดนอกแอฟริกาจะมีอาการเจ็บก้นอย่างมากจำนวนหนึ่ง และตุ่มแผลเกิดขึ้นในอวัยวะเพศเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ศ.นพ.ยงระบุต่อว่า กลไกการเกิดโรคน่าจะแตกต่างกัน โดยทั่วไปในแอฟริกาน่าจะเกิดจากการได้รับเชื้อแล้วเชื้อเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง เข้ากระแสโลหิต แล้วมีอาการแสดงขึ้นเป็นตุ่มที่แขนขาศีรษะ รอยโรคเกิดขึ้นพร้อมกัน ลักษณะตุ่มหนองที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยนอกแอฟริกามีหลายระยะ เช่น บางตุ่มสุก บางตุ่มเพิ่งขึ้นหรือบางตุ่มเริ่มแห้ง ไม่เหมือนกับในแอฟริกา ฝีดาษลิงที่เกิดนอกแอฟริกา โดยเฉพาะที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกนี้ การรับเชื้อน่าจะสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ อาจจะมีรอยถลอกและทำให้เกิดรอยโรค เป็นตุ่มขึ้น พร้อมกันนั้นที่สัมผัสโรค เชื้อก็จะเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและกระแสโลหิต แล้วไปเกิดตุ่มที่อื่นอีกได้ด้วย การเกิดตุ่มบริเวณสัมผัส ทำให้เกิดรอยโรคขึ้นเช่นเดียวกันกับการปลูกฝีสมัยก่อน ใช้เชื้อหนองฝีหยอดที่ต้นแขน แล้วสะกิดหรือควรให้เกิดรอยถลอก ตุ่มแผลเกิดขึ้นบริเวณที่ถลอก สิ่งที่ช่วยยืนยันว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์เพราะผู้ป่วยฝีดาษลิงจะพบโรคทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เช่น HIV หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม และมีลักษณะเด่นทางแผลที่อวัยวะเพศ ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากไปพบแพทย์ และโรคนี้ก็หายได้เอง จึงทำให้ยากต่อการควบคุม

...