หลังสมุดปกอ่อน เล่มที่ผมใช้ดินสอดำแอบเขียนภาพ สมเด็จพระนเรศวรชนช้าง...ครูประจำชั้น ป.3 เรียกไปตรวจแล้วตำหนิ “สกปรก” แต่ไม่ลงโทษถึงตี (ครูผมขึ้นชื่อเรื่องใช้ไม้เรียว) ยังชม “เขียนเก่งนี่” ผมเอาตัวอย่างจากภาพปกหน้าสมุดอีกเล่ม
ตอนเขียน จำฝังใจ...คนสองคนบนหลังช้าง คนแรกนั่งคอช้าง มือถืออาวุธฟาดฟัน ผมคิดว่าเป็นควาญช้าง
ส่วนคนนั่งยืดอกสง่างามบนกูบ รอบตัวด้วยอาวุธสั้นยาว คือพระนเรศวร
โตขึ้นมาหน่อย อ่านลิลิตตะเลงพ่าย...ถึงตอนพระมหาอุปราชา ถูกพระนเรศวรฟันคอขาด สำนวนโคลง กรมพระปรมานุชิตว่า
“เหนือคอคชซวนซบ สังเวช” ก็ไม่ทันสะกิดใจ...ในยุทธหัตถี
สองพระองค์ ทรงนั่งบนคอช้าง...นี่หว่า!
ดูภาพยุทธหัตถีเมื่อไหร่ ก็ยังหลงคิดว่าคนที่นั่งบนกูบช้าง เป็นสมเด็จพระนเรศวรอยู่ร่ำไป
ภาพจำนั้นกระเจิงไปเลย เมื่อผมเจอ “ภาพจริง” จากงานเขียน น.อ.สวัสดิ์ จันทนี (นิทานชาวไร่ สำนักพิมพ์ศยาม พ.ศ.2560) เนื้อหาเรื่องนี้ซ่อนอยู่ในนิทานชาวไร่เล่ม 2 เรื่อง เจ้าฟ้าเหม็น
ชุดความรู้นี้ หลวงวรภักดิ์ภูบาล อดีตมหาดเล็ก สมัยรัชกาลที่ 6 เล่าให้ฟัง
หลวงวรภักดิ์เล่าว่า ตำรวจหลวง กับตำรวจวัง ฟังแต่ชื่อนั้น
ดูจะโก้ๆเหมือนๆกัน ตำรวจวังนั้นทำหน้าที่ทหารรักษาวัง ส่วนตำรวจหลวงนั้น คือมหาดเล็ก รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน โก้กว่าตำรวจวังมาก
เราคุ้นกับสำนวน “เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง” เคยฟังเรื่องเก่าๆ เจ้านายหรือขุนนาง ถูกสั่งลงโทษด้วยการตระเวนบกสามวัน ตระเวนน้ำสามวัน แล้วเอาตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง
ตะพุ่นหญ้าช้าง คือคนเกี่ยวหญ้า เอามาให้คนเลี้ยงช้าง ป้อนช้างกิน
หลวงวรภักดิ์เล่าว่า ถ้าได้เป็นควาญช้างพระที่นั่ง “หาใช่คนเล็กคนน้อยไม่” คนที่ได้ตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนสนิทของกษัตริย์ ลำดับความใกล้ชิด พนักงานช้างต้น เทียบได้กับมหาดเล็กห้องบรรทมนั่นเทียว
...
ควาญช้างเวลาทำหน้าที่ตำรวจหลวง แต่งเต็มยศ มีเครื่องหมายแต่งกายที่สำคัญ คือคาดพุงด้วยผ้าสีแดง
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตำรวจหลวงที่คาดพุงแดง มีหน้าที่นำกษัตริย์เข้าสู่ห้องบรรทม คนอื่นๆนำเสด็จไปไม่ได้โดยเด็ดขาด
เวลาออกศึกกษัตริย์ต้องประทับที่คอช้าง คือทำหน้าที่ควาญช้าง ส่วนพนักงานช้างต้น (คือควาญ) งานนี้ต้องมานั่งในกูบ คอยส่งดาบ ง้าว หรือทวนให้
หมายความว่า “ควาญ” คนที่นั่งบนกูบ ก็ต้องรบเป็น รู้ว่าเวลาไหนจะต้องใช้อาวุธอะไร ไม่ต้องรอให้กษัตริย์ตะโกนสั่ง ขืนรอให้สั่งเวลารบกัน ข้าศึกฟันตายเสียก่อน
หลวงวรภักดิ์เล่าว่า พระยาเกียรติ พระยาราม เป็นควาญช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระเพทราชา เป็นควาญช้างสมเด็จพระนารายณ์
มีผู้เฒ่าบางคน สันนิษฐาน รัชกาลที่ 1 เป็นเชื้อสายพระเพทราชา กษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง
เรื่องนี้ น.อ.สวัสดิ์ ฟังหลวงวรภักดิ์เล่าแล้ว ออกตัวว่า ต้องสุดแต่นักประวัติศาสตร์ จะค้นคว้าหาข้อเท็จจริงกันในโอกาสต่อไป แต่เรื่อง “ควาญช้าง” หาใช่คนเล็กคนน้อยไม่ เป็นความจริงที่แน่นอน
ใครเคยสงสัย เหตุใดพระเพทราชา ที่ประวัติศาสตร์เขียนว่า นายกองช้าง จากบ้านพลูหลวงจึงคิดการใหญ่ วางแผนฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ นายกอยุธยา รอสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต แล้วปฏิวัติชิงบัลลังก์ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์
รู้เรื่องควาญช้างพระที่นั่ง คือคนใกล้ รู้ฝีมือใจพระเจ้าแผ่นดินที่สุด ก็คงพอเข้าใจ
ประวัติศาสตร์ไม่ว่ายุคเก่าหรือยุคใหม่...คนที่รอโอกาส
เป็นใหญ่ ก็มักจะเป็นคนใกล้ผู้มีอำนาจ ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหนเลย.
กิเลน ประลองเชิง