โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือก่อตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมสนับสนุนร้านหนังสืออิสระและการส่งเสริมการเรียนรู้แก่คนไทยด้วยการอ่าน

ปักหมุดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยการส่งเสริมเครือข่ายร้านหนังสือและระบบวิธีการกระจายหนังสือ เพื่อเพิ่มจำนวนหนังสือที่มีคุณภาพให้มากขึ้นอย่างเพียงพอ และตรงตามความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

และหนึ่งในการดำเนินงานภายใต้ โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ คือ การคัดเลือกร้านหนังสืออิสระดีเด่น เพื่อยกย่องและมอบโล่เชิดชูเกียรติ ในการเป็นต้นแบบร้านหนังสืออิสระที่มีผลดำเนินงานดีเด่น โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมหนังสือตลอดปี ด้วยกิจกรรมที่มีแนวคิดริเริ่ม แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมวัฒนธรรม ของชาติและท้องถิ่น ทั้งเหมาะสมกับบุคคลและพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ประชากร มีอุดมคติในการเปิดร้านหนังสือเพื่อชุมชนและสังคม และดำเนินการมายาวนาน มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคมด้วยหนังสือ และเป็นร้านหนังสือที่ได้รับความนิยมจากประชาชน

...

สำหรับ ร้านหนังสืออิสระดีเด่น ที่ได้รับคัดเลือกในปี 2564 มีจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.ร้านหนังสือดาวเจ็ดดวง ณ ร้านขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้ว เก๋งจีน บางคล้ำ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับยกย่อง เป็นร้านหนังสือต้นแบบในโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ 2.ร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย จ.อุทัยธานี 3.ร้านหนังสือเปียบุ๊คส์ กรุงเทพฯ 4.ร้านหนังสือน้ำพุ บุ๊คสโตร์ จ.บุรีรัมย์ 5.ร้านหนังสือประณอม จ.ชลบุรี 6.ร้านหนังสือริมขอบฟ้า กรุงเทพฯ 7.ร้านหนังสือซอมบี้ กรุงเทพฯ 8.ร้านหนังสือสุนทรภู่ จ.ระยอง 9.ร้านหนังสือ เล็กๆ จ.สงขลา 10.ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก จ.ลำปาง

นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ในฐานะผู้ริเริ่มการดำเนินงานโครงการวัฒนธรรม หนังสือ กล่าวว่า เราพยายามให้ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ อยู่ได้ด้วยโครงการนี้ โดยการ สนับสนุน ส่งเสริมให้ร้านหนังสืออิสระเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานที่ดีและมีคุณภาพ มีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านทั่วประเทศ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน ตลอดจนเป็นตัวแทนภาครัฐในการส่งเสริมการอ่าน และความรู้ในพื้นที่ภูมิภาค และให้เป็นช่องทางกระจายหนังสือไปในพื้นที่ทุกแห่งโดยเฉพาะชนบทห่างไกล

นายมกุฏ อรฤดี
นายมกุฏ อรฤดี

เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวต่อไปว่า เครื่องมือสำคัญที่ใช้สนับสนุนการสร้างผู้อ่านและการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร้านหนังสือ คือ “Book Passport” หรือ “หนังสือเดินทางร้านหนังสือ” ซึ่งได้แจกให้กับร้านที่ร่วมโครงการ กว่า 20,000 ฉบับ โดย Book Passport จะทำหน้าที่เป็นเหมือนหนังสือบันทึกการเดินทางในการไปเยือนร้านหนังสืออิสระต่างๆ ที่ร่วมโครงการ โดยผู้ที่เข้าไปซื้อหนังสือในร้านจะได้รับตราประทับตรา และ ในแต่ละเดือนจะมีการจับสลากเพื่อให้คูปอง คนละ 1,000 บาท จำนวน 10 ทุน จากนั้นในรอบปีจะมีรางวัลใหญ่ จำนวน 20,000 บาท ด้วยการจับสลาก ชื่อผู้ซื้อหนังสือตามร้านต่างๆ โดยในคูปอง 20,000 บาทนี้ จะมีคูปอง 5,000 บาทให้ใช้ซื้อหนังสือจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ และเราก็จะคืนเงินให้แก่ร้านหนังสือด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่าหนึ่งปีเศษ พบว่า ผลตอบรับเป็นไปด้วยดี มีผู้เข้าร้านหนังสือจำนวนเพิ่มขึ้น เกือบ 20,000 ราย ร้านหนังสือมีลูกค้าเพิ่มขึ้น และตื่นตัวที่จะเรียกลูกค้าเข้าร้าน ทั้งได้รับแจ้งเข้ามาว่าสถิติการขายหนังสือดีขึ้นตามลำดับ

...

“รัฐบาลที่ฉลาดต้องพยายามให้ร้านหนังสืออยู่ได้มากๆ ทั่วประเทศ ให้เหมือนเป็นห้องสมุดกลายๆ ของรัฐบาล โดยชาวบ้าน ก็จะมีที่พึ่งในการหาความรู้ ได้อ่านหนังสือ แล้วรัฐบาล ก็ไม่ต้องสร้างห้องสมุดมาก ให้ลองนึกภาพดูว่า หากไม่มีร้านหนังสือในประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น ต้องตอบว่าจะเกิดหายนะเลยก็ว่าได้ เพราะจะไม่มีแหล่งความรู้พื้นฐานให้ประชาชน ดังนั้น ผมพยายามหาทางศึกษาที่จะผลักดันโครงการนี้ต่อให้เป็นนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้การทำงานขยายผลไปได้กว้างขวาง เพื่อเพิ่มจำนวนคนอ่านหนังสือ และเข้าร้านหนังสือ อย่างน้อยที่สุด ยังจะต้องให้มีร้านหนังสืออิสระอยู่ให้ครบทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้าร้านหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ เราพยายามให้ร้านหนังสือที่มีอยู่แล้วดำรงอยู่ได้ และความพยายามต่อไปคือ สนับสนุนเปิดร้านหนังสือใหม่ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา มีร้านหนังสือเปิดใหม่เล็กๆ ชื่อ ดาวเจ็ดดวง เปิดอยู่ในร้านขายขนมเปี๊ยะ เจ้าของมีความปรารถนาดีมากที่จะส่งเสริมให้เยาวชนมีหนังสืออ่าน มีมุมให้สามารถยืมหนังสือกลับบ้านได้ด้วย ร้านนี้จึงเป็นตัวอย่างการดำเนินงานที่ดี เมื่อลูกค้ามาซื้อขนม แม้ว่าไม่เคยสนใจหนังสือ ไม่เคยอยากอ่านหนังสือ ก็หันมาสนใจเข้าไปเลือกชม และซื้อหนังสือกลับไปด้วย” นายมกุฏ กล่าว

นายอิทธิพล คุณปลื้ม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม

...

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ยินดีสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป เพื่อสร้างสังคมการอ่านและการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกวัย โดยจะต้องทำให้คนไทยมีคุณภาพ รู้จักรับผิดชอบสังคมและผู้อื่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต โดยเฉพาะจะให้การสนับสนุนร้านหนังสืออิสระ เพื่อเป็นการขยายพื้นที่แหล่งความรู้พื้นฐานแก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่าการอ่านหนังสือ คือปัจจัยสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เกิดโครงการวัฒนธรรม ร้านหนังสือขึ้น แต่สิ่งที่เราอยากขอฝาก คือ นอกจากการส่งเสริมร้านหนังสือแล้ว ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมนักเขียน นักแปลที่มีคุณภาพ รวมถึงสำนักพิมพ์ ที่พิมพ์หนังสือดี มีประโยชน์ มีราคาสมเหตุสมผล และมีช่องทางการเผยแพร่ไปให้กว้างขวางได้เพื่อให้คนไทยได้อ่าน ได้เรียนรู้ และวงจรชีวิตหนังสือจะไม่ตายไปจากสังคมไทย.

...

ทีมข่าววัฒนธรรม