อุทกภัยที่ผ่านมาแปลงหม่อนของเกษตรกรในหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม ส่งผลทำให้ดินขาดการระบายอากาศ รากหม่อนขาดออกซิเจน ไม่สามารถดูดน้ำ ธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นได้
นอกจากนี้ยังทำให้รากเปลี่ยนกลไกไปใช้ระบบการหายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจนที่ก่อให้เกิดสารพิษกับต้น ทำให้หม่อนหยุดการเจริญเติบโต หากท่วมขังนานเกิน 7 วัน จะทำให้เกิดอาการหลุดร่วงของใบดอกและผล ต้นหม่อนจะอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม แนะวิธีจัดการแปลงหม่อนระวังน้ำท่วมขัง ต้องเร่งระบายน้ำออกจากแปลงหม่อนโดยเร็ว พร้อมทั้งทำทางระบายน้ำหรือขุดร่องระบายน้ำระหว่างแถวเพื่อให้การระบายน้ำเร็วขึ้น
การจัดการหลังน้ำลด...ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในแปลงขณะที่ดินยังเปียก และให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปเดินย่ำบริเวณโคนต้นหม่อน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินเกิดการอัดแน่น ส่งผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ และกระทบกระเทือนต่อระบบรากต้นหม่อน
เมื่อดินแห้งสามารถเข้าไปตัดแต่งกิ่งหม่อน ให้ตัดกิ่งที่หัก เหี่ยวเฉาหรือแน่นทึบออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งลดการคายน้ำและเป็นการช่วยเร่งให้แตกใบใหม่เร็วขึ้น ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากหม่อน ทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น
การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นหม่อน ควรให้ปุ๋ยทางใบ เนื่องจากระบบรากยังไม่สามารถดูดซึมน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ...ให้รอไปจนดินแห้งเป็นปกติแล้วถึงใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี
ส่วนกรณีแปลงหม่อนถูกน้ำท่วมขังนานๆ หลังน้ำลดอาจเกิดปัญหาโคลนหรือรากต้นหม่อนเน่า ควรป้องกันและรักษาด้วยการราดหรือทาโคนต้นหม่อนด้วยสารเคมีกันราหรือสารชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา หรือจะปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาว หรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้.
...
สะ–เล–เต