โดยเส้นทางชีวิต พระสิทธัตถะกุมาร มีฐานะเป็นรัชทายาทกษัตริย์กบิลพัสดุ์ อยู่ปราสาทสามฤดู นี่คือ...ทางสายแรก จมปลักอยู่กับชีวิตที่สุขสบาย ทางที่หย่อนเกินไป ที่เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”
วันที่ตัดสินใจหนีบวช...เพื่อแสวงหาวิธีตายแล้วไม่ให้เกิด ช่วยคนที่ทุกข์ยาก อดข้าวแก้ผ้าเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่ ก็ทรงใช้วิธีที่ทำๆกันแล้ว ตามลัทธิโยคี ดึงผม ถอนหนวดเครา ยืนท่าเดียวนานๆ นั่งบนหนาม กอบฝุ่นผง
ชุมฝอยเข้าที่ตัวจนดูเป็นตอไม้ ท่องเที่ยวตามป่าช้า ที่เขาเอาศพคนตายมาทิ้งให้สัตว์กิน นอนกับซากศพ
“กาญจนาคพันธุ์” เขียนไว้ในคอคิดขอเขียน ผมอ่านแล้วพอเข้าใจว่าท่านแปลจากข้อเขียนผู้รู้ฝรั่ง ชื่อ “มัลทัส” หัวข้อเรื่อง เหตุเกิดเพราะอดข้าว ท่านเล่าว่า พระศิวะ หรือพระอิศวร ก็ชอบอยู่ตามป่าช้า เปลือยกายเอาหัวกะโหลกทำมาลัยคล้องคอ เอางูทำสังวาล ก็ทำตามความนิยมของคนสมัยนั้น คือปลงตกสิ้นความกลัว
พระสิทธัตถะก็ทำทุกอย่างตามลัทธิต่างๆ กินเมล็ดของลูกไม้ กินคูถ แล้วก็เปลี่ยนเป็นอดอาหาร ไม่มีเนื้อเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
เหล่านี้ก็คือทางทรมานตัวเอง ทางที่ตึงเกินไป เรียกว่า... อัตตกิลมถานุโยค ทรงเห็นว่าทางนี้ร่างกายไม่ดี จิตไม่กระสับกระส่าย หันมาใช้ “ทางสายกลาง” หรือมัชฌิมาปฏิปทา เริ่มกินข้าว
พอท้องอิ่มจิตใจก็ดี ก็ทรงไปนั่งคิดพิจารณาอยู่ใต้ต้นโพธิ์ คิดอยู่ตั้งแต่หัวค่ำถึงย่ำรุ่ง ก็จับเหตุผลได้ คนทุกข์เพราะโลภโกรธหลง จะหนีทุกข์ก็ต้องตัดโลภโกรธหลง
ทำไมจะตัดได้ ก็ต้องฝึกฝนกายวาจาใจให้รู้ทางที่ถูกที่ชอบ คิดไปถึงที่สุดแล้ว ก็รู้ว่าตัวเรานี้ความจริงไม่ใช่ตัวเรา ปลงตกได้อย่างนี้ โลภ โกรธ หลง ก็จะน้อยลงๆ
...
ในที่สุดก็หมดกิเลสตัณหา เข้าถึงการตายแล้วสูญ เหมือนตะเกียงน้ำมัน เมื่อน้ำมันหมดไฟก็ดับ ถ้าไปเติมน้ำมันเข้าไป ไฟก็จะกลับติดสว่างอีก
การตายแล้วไม่ไปเกิดอีก คือ นิพพาน กาญจนาคพันธุ์บอกว่า ที่อธิบายมานี้ดูเป็นนามธรรม แต่ถ้าจะอธิบายเป็นรูปธรรม ทุกข์สามข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าเชื่อว่า
บวชแล้วต้องสำเร็จ ช่วยคนให้พ้นได้ ทรงเอาทุกข์ใหญ่สามข้อมาเป็นเกณฑ์ปฏิบัติ
1. อดข้าว อดเพื่อให้ตายอย่างลัทธิอื่น ไม่เอา ทรงให้เดินสายกลาง เมื่อข้าวหายาก ก็ไม่ต้องกินมาก คือให้กินแต่น้อย วันละมื้อเดียว กินเพื่อยังชีวิตอยู่
2.ไม่มีผ้านุ่ง ปล่อยเปลือย ไม่นุ่งผ้าไม่เอา เมื่อผ้าหายาก ก็ไม่ต้องนุ่งมาก ให้มีเพียงสามผืนติดตัว ผ้าก็ไปหาเอาตามป่าช้าที่เขาห่อศพ เรียกว่านุ่งผ้าผี
3.ไม่มีที่อยู่ ก็ให้เที่ยวธุดงค์เรื่อยไป เมื่อจะพักก็พักตามโคนไม้ ในถ้ำตามป่าดง ปฏิบัติตามสามข้อที่ว่าก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรจะต้องทุกข์อีกต่อไป
พระพุทธเจ้าสอนให้หนีทุกข์ได้จริงๆ แล้วก็ยังไม่พอ คำสอนสำคัญ ก็คือสอนให้เลิกถือพวกถือเหล่า คนใน “พาราสาวัตถี” บวชแล้วก็ปรานีกัน ไม่มีใครสูงศักดิ์ชนิดแตะต้องไม่ได้ เท่าเทียมกันทุกคน
กาญจนาคพันธุ์เขียนเรื่องนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ท่านทิ้งท้ายว่าเมืองไทยมีข้าวมาก ไม่อด อันจะทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีแล้วอด ไม่กิน ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าทุกข์ของใครจะมากกว่า
อดข้าวเพราะไม่มีข้าว พระพุทธเจ้าช่วยได้ แต่อดข้าวแต่มีข้าวพระพุทธเจ้าเห็นจะช่วยไม่ได้
หลับตานึกภาพแล้วเอาไทยเทียบเคียงกับอินเดีย ไม่ว่ายุคใดสมัยไหน ไม่ว่าทุกข์เพราะเรื่องอดข้าว หรือทุกข์เพราะโควิด-19 ทุกข์แบบของไทยเราเบากว่าของเขาแยะเลย.
กิเลน ประลองเชิง