ต้นฤดูฝน อากาศร้อนอบอ้าว มีความชื้นจากฝน เหมาะต่อการเจริญเติบของเชื้อรา กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดให้เตรียมรับมือการระบาดของ โรคจุดดำ หรือ โรคแอนแทรคโนสอะโวคาโด มักจะพบได้ในระยะที่ต้นอะโวคาโดติดผลอ่อน
เริ่มแรกอาการจะเกิดขึ้นที่ใบ เห็นเป็นจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม หากอาการรุนแรง แผลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ใบจะแห้งและร่วงหล่น
อาการที่ก้านใบ กิ่ง และก้านช่อดอก พบแผลจุดหรือขีดสีม่วง ถ้าอาการรุนแรงแผลจะขยายลุกลามทำให้ก้านใบและกิ่งแห้ง หากเกิดที่ก้านช่อดอกจะทำให้ช่อดอกเหี่ยว แห้ง และหลุดร่วงก่อนติดผล
อาการที่ผลอ่อน จะมีจุดแผลสีน้ำตาลถึงดำ หากอาการรุนแรง ผลจะหลุดร่วงก่อนกำหนด
ส่วนอาการบนผลแก่ จะพบในระยะใกล้เก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต มีแผลจุดสีน้ำตาลถึงดำ รูปร่างกลมขนาดไม่แน่นอน ต่อมาแผลขยายลุกลามเป็นแผลยุบตัวในเนื้อผล ทำให้ผลเน่า บางครั้งพบเมือกสีส้มซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล
ดันนั้นในระยะนี้เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเริ่มมีอาการของโรค ให้ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อราก่อโรค และควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อลดความชื้นสะสม และลดการสะสมของเชื้อก่อโรค
กรณีพบโรคเริ่มระบาด ให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร...ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน
และภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง และขั้วผลที่ติดอยู่บนต้น นำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมความชื้นในทรงพุ่ม และลดการสะสมของเชื้อราก่อโรค.
สะ-เล-เต