สภาพอากาศในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่มีฝนตก และเพิ่งลงปลูกข้าวโพดได้ไม่ถึง 30 วัน ให้เฝ้าระวังโรคราน้ำค้าง

เพราะเป็นระยะที่ต้นข้าวโพดจะอ่อนแอต่อโรคนี้มาก และเป็นโรคที่มักจะระบาดในช่วงที่มีฝนตก อากาศเย็นและมีความชื้นสูง

อาการของโรคจะพบได้ตั้งแต่ข้าวโพดงอก เริ่มแรกจะพบจุดเล็ก

สีเขียวฉ่ำน้ำบนใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดบริเวณยอดมีสีเหลืองซีด หรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่ ในเวลาเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง ด้านใต้ใบมักพบส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราเป็นผงสีขาวจำนวนมาก

บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมากหรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่ฝักจะไม่สมบูรณ์ มีจำนวนเมล็ดน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย

การป้องกันกำจัดในแหล่งปลูกที่เคยมีการระบาดของโรค หากมีอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นในอากาศสูง เมื่อต้นข้าวโพดมีอายุ 5-7 วัน ควรฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดเมโทมอร์ฟ 50 ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ฉีดพ่นทุก 7 วัน และพ่นติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

และในการเพาะปลูกข้าวโพดครั้งถัดไป เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานโรค และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือ เมทาแลกซิลเอ็ม 35% อีเอส อัตรา 3.5 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

กรณีเริ่มพบการระบาดของโรค ให้ถอนต้นกล้าข้าวโพดที่แสดงอาการของโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เนื่องจากเชื้อราก่อโรคสามารถเข้าทำลายต้นข้าวโพดได้ตั้งแต่ในระยะที่ข้าวโพดเริ่มงอก

...

การฉีดพ่นสารเคมีหลังจากต้นข้าวโพดอายุ 20 วันขึ้นไป ไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีพื้นที่ปลูกเป็นบริเวณกว้าง ให้เน้นการป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นหลัก.

สะ-เล-เต