ตอนนี้ตำรวจที่ทำงานด้านสอบสวน ปั่นป่วนกันไปหมด...หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 วินิจฉัยเป็นหลักว่า ผู้ต้องหรือจำเลย มีสิทธิปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือได้ พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ

ทำเอาพนักงานสอบสวนถึงกับมึน ไม่รู้จะเอาอวัยวะส่วนไหนก่ายหน้าผากดี!?

เพราะการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหา เป็นการยืนยันตัวบุคคลได้ดีที่สุด ไม่ใช่ชื่อ-นามสกุลที่มีซ้ำกันไปซ้ำกันมา บางครั้งหลายสิบคน

เรื่องนี้ ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการเนติบัณฑิตยสภา เผยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว (ผู้ร้องเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง) ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็น “ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับความยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย.2549 เฉพาะส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ...” หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญยึดถือหลักกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

ประกาศคณะปฏิรูปฯบัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดอาญา มีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าตามคำสั่งพนักงานสอบสวน ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปฯดังกล่าวขัดต่อหลักนิติธรรม จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัว ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะมีมาตรการทางกฎหมายอื่นทดแทนอยู่แล้ว

...

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผลใช้บังคับเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132

เมื่ออำนาจของพนักงานสอบสวนยังมีอยู่ ผู้ขัดขืนอาจมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานได้...

นั่นเป็นความเห็นของกรรมการเนติบัณฑิตยสภาครับ

แต่ในความเป็นจริง ต่อไปผู้ต้องหาคงพากันปฏิเสธการพิมพ์ลายมือเพื่อยืนยันตัวตน ตำรวจที่ไหนจะกล้าบังคับ?

สหบาท