แค่จะเปลี่ยนโลโก้ติดร้าน ชี้กม.คุมโรคแทนฉุกเฉิน "ตู่" ออกทีวีชมช่วยฝ่าวิกฤติ
นายกฯออกทีวีรวมการเฉพาะกิจ ลั่นถึงยังประกาศชัยชนะ โควิดได้ไม่เต็มที่ แต่จะทำให้คนไทยกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง ชมเห็นความเป็นไทย 2 เรื่อง พร้อมใจช่วยเหลือกันในยามวิกฤติ และมีคนเก่งอยู่เยอะที่ช่วยประเทศชาติโดยไม่มีข้อแม้ ยันหลังโควิดจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนมากขึ้น “วิษณุ” ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อรองรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ แต่อำนาจน้อยกว่า ถาม สธ.พร้อมแค่ไหน ถ้าบูรณาการ เจ้าหน้าที่หรือออกคำสั่งโดยไม่กลัวถูกฟ้อง ดีอีเอสย้ำไทยชนะไม่ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล จ่อทำเป็นโลโก้ติดร้านรวงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ปลอดเชื้อโควิด ทว่าข้อความขยะเว็บพนันยังป่วน ผู้ปกครองแห่ซื้อชุดนักเรียนแน่นร้านย่านบางลำพู ขณะที่พ่อแม่ยุคนิวนอร์มอล ยอมกัดฟันหาเงินซื้อเพื่อลูก
หลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.63 พร้อมประกาศเคอร์ฟิว ช่วงเวลา 22.00- 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.63 เพื่อสู้กับเชื้อร้ายอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันควบคู่ไปด้วย ก่อนเริ่มคลายล็อกกิจการกิจกรรมเป็นระยะ รวมทั้งต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งละ 1 เดือน ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00-03.00 น. โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เตือนเป็นระยะการ์ดอย่าตก ให้กิจกรรมแต่ละชนิดที่ได้รับการผ่อนปรนเข้มข้นเรื่องการใช้มาตรการสูงสุดในการสกัดเชื้อ ทั้งนี้รัฐบาลประกาศผ่อนปรนกิจการกิจกรรมเป็นเฟสที่ 4 รวมทั้งการทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.63 ล่าสุด พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม เพื่อหารือข้อกฎหมายจะนำฉบับใดใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย.63
...
วิษณุเผยแนะหลายวิธีรองรับเลิก พ.ร.ก.
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้ศึกษามาตรการรองรับกรณีหากยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนได้หรือไม่ว่า ต้องไปประเมินกันเองแนะนำไปหลายแนวทาง ต้องไปพูดคุยกับฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขปรารภเรื่องความยุ่งยากหลายอย่างหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกตัวอย่างกรณีแรงๆหลายกรณี

ให้ สธ.คิดเองพร้อมแค่ไหนเผชิญปัญหา
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ตนบอกว่าไม่ทราบเพราะไม่เคยเจอ แนะนำให้ลองไปคิดเองว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมขนาดไหนในการเผชิญปัญหา ยกตัวอย่าง หากให้เครื่องบินและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ไม่ว่าจะมาแบบ Travel Bubble หรือ จะเป็นคนไทยก็ตาม หากสงสัยว่ามีอาการติดเชื้อ คำถามคืออำนาจที่จะสั่งให้เข้าสู่สถานกักตัวของรัฐนั้นมีหรือไม่ ให้ไปกักตัวที่ไหน ใครเป็นคนสั่ง เรื่องสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่ใช้ ตรงนี้ต้องหาคำตอบหากแก้ปัญหาได้ก็วางใจได้ แต่หากยังติดปัญหาอยู่ก็คิดกันอีกครั้ง
มี พ.ร.บ.โรคติดต่อรองรับแทนได้
เมื่อถามว่ามีกฎหมายฉบับใดที่จะใช้รองรับหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุกล่าวว่า ตอนนี้มีเพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้น ซึ่งมีอำนาจน้อยเป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อรับมือการระบาดแบบ Epidemic (ระดับโรคระบาดทั่วไป) ไม่ใช่สำหรับ Pandemic (การระบาดใหญ่) แต่ก็สามารถใช้ได้ ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เรากลัวเรื่องในอนาคตเท่านั้น ถ้าเป็นที่วางใจอย่างวันนี้ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 22 วันแล้ว ถือว่าน่าอุ่นใจ กว่าจะถึงปลายเดือนนี้ก็ไม่มีติดต่อกัน 30-40 วันแล้ว
ใช้ได้เลยถ้า จนท.ไม่กลัวโดนร้อง
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดเหตุ 2 ประการ คือ 1.ส่วนที่บังคับใช้กระทบกับประชาชน คือมาตรา 9 และ 2.ส่วนที่บังคับใช้แล้วไม่กระทบกับประชาชน คือมาตรา 7 ที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคที่เป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข หากเราสามารถทำงานแบบบูรณาการ นำตำรวจ ทหาร พลเรือน และ อสม. มาร่วมทำงาน คนเหล่านั้นทำงานด้วยความเชื่อมั่น ไม่เกรงกลัวอะไร ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกคำสั่งโดยไม่ต้องวิตกมากนักว่าพอสั่งไปแล้วมีคนไปร้องศาลปกครอง จนต้องหยุดคำสั่งไป หากเป็นอย่างนี้ก็จะเดินหน้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้
ต้องมีมาตรฐานกลางกันลูกเกรงใจ
“แต่ถ้าเรายังเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อยู่คือให้ฝ่ายปกครองไปถามผู้ว่าฯ ว่าหากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแล้วท่านจะต้องเป็นผู้บริหาร ผู้ว่าฯ 77 จังหวัดต้องเป็นคนสั่งเอง นายกรัฐมนตรีสั่งอะไรเองไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ นายกฯ ครม. และรัฐมนตรีสาธารณสุขไม่มีอำนาจ อำนาจทั้งหมดเป็นของผู้ว่าฯภายใต้การทำงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเท่านั้น และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย รวมถึงเอกชน และท้องถิ่น รัฐจะไปสั่งการเขาไม่ได้ หากเขาเดินในแนวทางเดียวกันได้เราก็มั่นใจ และสามารถปล่อยให้ทำงานได้ แต่ถ้าเขาไม่มั่นใจ เช่น อยากไปสั่งปิดโน่นปิดนี่ แต่กลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง ถ้าคิดอย่างนั้นจึงไม่สั่งดีกว่า หรือในจังหวัดมันมีการลูบหน้าปะจมูก มองเห็นและเกรงอกเกรงใจกัน ไม่กล้าปิดบางร้านค้า เช่น คาเฟ่ หรือผับ ถ้ายังไม่กล้าเราก็คิดว่าต้องมีมาตรฐานกลางที่ทำให้เขากล้า ทั้งหมดไม่ได้บอกว่าซ้ายหรือขวา ให้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานในเรื่องนี้” นายวิษณุกล่าว
...

อนุทินชมคน สธ.ขอไข่อย่าแตก
ด้านกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมมอบนโยบายการจัดการสถานการณ์โควิด-19 แก่ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และชมรม ผอ.โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ว่าไทยเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ทำได้ขนาดนี้เป็นเพราะบุคลากรสาธารณสุขทำงานอย่างเข้มข้น การ์ดอย่าตก ไม่มีผู้ป่วยติดต่อกันใน ประเทศ 23 วันแล้ว รออีก 1 สัปดาห์ จะครบ 28 วันระยะปลอดภัย ขออย่างเดียวไข่อย่าแตก และบุคคลกรสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อพร้อมเผชิญเหตุหากเกิดมีผู้ป่วยเข้ามา ก็ต้องรุกเข้าไปแก้ปัญหาอธิบายประชาชนให้ทราบและเข้าใจ
มอบกรมควบคุมโรคดูจับคู่ประเทศ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการจับคู่ประเทศ (Travel Bubble) ขณะนี้มอบกรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขดูแล ขณะนี้ตนต้องจัดคิวพบเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่ประสานเข้ามา พร้อมส่งกรอบการควบคุมป้องกันโรค การคัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงการคัดกรองของประเทศต้นทาง ก่อนนำสิ่งเหล่านี้มา พิจารณาว่าสอดคล้องกับมาตรการในไทยหรือไม่ โดยจะเน้นบนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 26 มิ.ย.นี้
...
โวต้องกล้าเริ่มให้คนไปมาทำธุรกิจ
“คงเป็นลักษณะการทำเอ็มโอยู หากประเทศที่จับคู่แล้วเกิดการระบาดขึ้นมาอีก และควบคุมไม่ได้ ก็สามารถยกเลิกได้ ทุกอย่างจะค่อยๆพัฒนาขึ้นไป ไม่อยากให้กังวล เราต้องกล้าที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ประกอบธุรกิจกัน อาจจะเริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจเทคนิเชียล บรรดาครู คนทำงานที่มีใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น อาจจะยังไม่ถึงขั้นนักท่องเที่ยว เพราะเชื่อว่าต่อให้เปิดประเทศตอนนี้ทั้งเราและเขาคงยังไม่มีใครจะมาท่องเที่ยว แต่มั่นใจว่าถ้าเราการ์ดไม่ตก ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ” นายอนุทินกล่าว
ยังไม่มีคุยเรื่อง พ.ร.บ.โรคติดต่อ
เมื่อถามถึงกรณีมีแนวโน้มในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอาจจะมีการใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ถือว่าเพียงพอหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่มีการหารือถึงจุดนี้ว่าจะใช้แนวทางไหน เพราะขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีอยู่ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับชีวิตคน เพราะเคอร์ฟิวก็ไม่มีแล้ว คนที่ทำงานหนักก็ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่นเดิม เพราะกิจกรรม กิจการต่างๆกลับมาเปิดปกติ รวมถึงผับ บาร์ การจำหน่ายสุราได้บ้าง เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่เหมือนกัน หากประชาชนเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ ขอความร่วมมือให้ประชาชนเมตตาใช้ชีวิตวิถีใหม่มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก เพราะวันนี้เรายังไม่รู้ว่ายังมีคนติดเชื้อไม่มีอาการหลงเหลืออยู่หรือไม่

...
ศบค.ยืนยันแอปไทยชนะปลอดภัย
เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าที่มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ยืนยันว่ามีความปลอดภัยแน่นอน เพราะมีคณะกรรมการจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดูแลอยู่ไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่การให้จดข้อมูลเบอร์โทร.ลงสมุด ทางร้านต้องมีวิธีดูแลด้วย ต่อไปกระทรวงดีอีเอสต้องเข้ามาดูระบบและความละเอียดรอบคอบส่วนนี้ให้ด้วย
เล็งทำเป็นโลโก้ปลอดเชื้อโควิด
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ขณะนี้แอปไทยชนะกำลังพัฒนาให้ระบบเช็กอิน เช็กเอาต์เป็นกลุ่มได้ หรืออาจเปิดจองตั๋วเข้าสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสัตว์ ขึ้นรถทัวร์ และกำลังออกเป็นหมายเลขประจำตัวเพื่อส่งเสริมการขาย สามารถติดตามได้เป็นตัวบุคคล ร้านค้าจะมีการให้เรตติ้ง 3-5 ดาว ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่ม หลายคนบอกว่าอยากให้พัฒนาขึ้นเป็นโลโก้ หากร้านค้าไหนมีคิวอาร์โค้ดไทยชนะติดอยู่แสดงว่ามีคุณภาพครบถ้วน ระหว่างร้านมีคิวอาร์โค้ดกับร้านที่ไม่มี ขอให้ไปร้านที่มีคิวอาร์โค้ดไว้ก่อน เพราะถูกจัดการหมดแล้ว แสดงถึงความพร้อมในการให้บริการ ส่วนร้านที่ไม่มีคิวอาร์โค้ด มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พร้อมบริการใคร ต่อไปคิวอาร์โค้ดไทยชนะ จะเป็นโลโก้ด้านความปลอดภัยในการติดหรือไม่ติดโควิด-19
ดีอีเอสระบุใช้ควบคุมโรคเท่านั้น
ขณะที่ นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า แอปพลิเคชันไทยชนะ มีแนวทางปฏิบัติง่ายๆ ในการใช้บริการ คือ 1.วิธีลงทะเบียนง่าย สะดวกด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถใช้บริการได้เลย 2.ลดความยุ่งยากในการใช้บริการ และปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน 3. สามารถเช็กเอาต์ หลังจากใช้บริการ (เมื่อไหร่ก็ได้) 4.ป้องกัน QR Code ปลอม 5.ช่วยเช็กความถูกต้องของกิจการ/ร้านค้า/สถานประกอบการว่าได้ทำตามมาตรการจริงหรือไม่ 6.ป้องกันการกรอกเบอร์ โทรศัพท์ผิด 7.ช่วยในการติดตามสอบสวนโรคกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่ใดหรือร้านค้าที่ไปใช้บริการ ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูล มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลภายใต้การควบคุม ดังนั้น ผู้ประมวลผลไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การควบคุมโรคโควิด-19 เท่านั้น

ข้อความขยะยังป่วนคนใช้ไอโฟน
มีรายงานด้วยว่า จากกรณีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เคยกล่าวถึงกรณีข้อความโฆษณารบกวนที่มีการแพร่ระบาดแข่งกับโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ว่า ได้ส่งเรื่องไปยังบริษัทผู้ให้บริการระบบ iOS เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้บนโทรศัพท์มือถือไอโฟน และแท็บเล็ตไอแพดของ Apple แล้ว แต่ยังไม่ตอบรับกลับมานั้น จนถึงขณะนี้ข้อความขยะโฆษณาชักชวนเล่นพนันที่ประชาชนกังวลว่า เกิดขึ้นจากการดาวน์โหลดแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ผู้ที่ใช้ระบบดังกล่าวยังคงได้รับข้อความขยะนี้อยู่เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะปิดตามคำแนะนำของผู้ให้บริการจากค่ายมือถือ แต่ก็ยังมีข้อความขยะเข้ามาสร้างความรำคาญอยู่เรื่อยๆ
เผยผลสำรวจภาวะเครียดพุ่ง
ขณะที่ นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการประเมินสุขภาพจิตประชาชนในช่วงการระบาดโควิด-19 รวม 6 ครั้ง ครั้งล่าสุดสำรวจระหว่างวันที่ 26-30 พ.ค.63 ภายหลังมีมาตรการผ่อนปรนคลายล็อกประเทศมากขึ้น สำรวจความเครียด ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า ความคิดทำร้ายตัวเอง ทั้งในกลุ่มประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดระดับมาก เพิ่มมากจาก 4.8% เป็น 7.9% เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนเครียดระดับมากเพิ่มจาก 2.7% เป็น 4.2%
บุคลากรการแพทย์-ปชช.หมดไฟ
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ส่วนภาวะหมดไฟ พบว่าเพิ่มมากขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม โดยในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข แม้ว่าการระบาดจะลดลง แต่ภาระงานยังเพิ่มขึ้น จากผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคอื่นๆกลับเข้ามาเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะความพยายามในการต่อสู้กับความยากลำบาก ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า หมดไฟได้ การสำรวจข้อนี้จะแบ่งเป็น 3 ด้าน 1.ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง หมดหวัง สูญเสียพลังงานทางจิตใจบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 5% เป็น 6.5% ส่วนประชาชนเพิ่มจาก 3.3% เป็น 3.6% 2.ด้านการมองความสามารถในการทำงานลดลง ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 3.1% เป็น 4.7% ประชาชนเพิ่มจาก 2.2% เป็น 3.2% และ 3.การมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 4.1% เป็น 4.9% และประชาชนเพิ่มจาก 1.7% เป็น 2.6%
โควิด-19 ทำซึมเศร้าอื้อ
นพ.จุมภฎกล่าวต่อว่า สำหรับอาการซึมเศร้า บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจาก 1.4% เป็น 3% ประชาชนซึมเศร้าเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.6% เช่นเดียวกับความคิดทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น โดยบุคลากรการแพทย์ เพิ่มจาก 0.6% เป็น 1.3% ขณะที่ประชาชนเพิ่มจาก 0.7% เป็น 0.9% ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ต้องระวังและประเมินสถานการณ์ต่อไป เพราะภาวะซึมเศร้าเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ส่วนด้านความกังวลพบว่าทั้ง 2 กลุ่มกลัวติดเชื้อแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขระดับประเทศ และระดับจังหวัดของตัวเองคิดเป็น 99% ตรงนี้นับเป็นกำลังใจให้คนทำงานมากที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจ
จับตาอารมณ์คนรอบข้าง
นพ.จุมภฎกล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าภาวะอารมณ์ของคนมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน แม้ภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าปกติดีก็ตาม ขอให้ประชาชนช่วยกันสังเกตอารมณ์ตัวเอง คนรอบข้าง คนในครอบครัว ว่ามีปัญหาความเครียด ความกังวลอย่างไรหรือไม่ สังเกตง่ายๆ คือ มีอาการซึมลงหรือไม่ นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติด ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากไม่ดีขึ้น จะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป โดยแผนการดูแลสุขภาพจิตจะดู 3 ด้าน คือพลังใจ อึด ฮึด สู้ ระดับบุคคล 2.การทำให้ครอบครัวเข้มแข็งจับมือผ่านปัญหา และ 3.ทำให้ชุมชนสร้างความรู้สึกปลอดภัย มีหวังว่าจะผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน ไม่กีดกัน แบ่งแยก ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้ามีการระบาดรอบ 2 สามารถใช้แนวทางเดิมนี้ได้

เทวัญเผยวัดทั่วประเทศค้างค่าไฟ 40-50 ล้าน
วันเดียวกัน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 16 มิ.ย.รับหลักการช่วยเหลือเยียวยาพระสงฆ์ และสามเณร เบื้องต้นมีมาตรการเยียวยาให้ปัจจัย 60 บาทต่อรูปทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการอีกหลายชุดในการช่วยค่าน้ำ ค่าไฟให้กับทางวัด ได้รับรายงานจากการไฟฟ้า ทั้งส่วนภูมิภาคและนครหลวง มีวัดจำนวนมากติดค้างค่าไฟฟ้าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 40-50 ล้านบาททั่วประเทศ ส่วนเรื่องค่าน้ำยังไม่ได้รับการรายงาน เรากำลังพิจารณาในส่วนนี้ด้วย จากเดิมที่ลดให้ 3 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้แล้ว
พศ.เสนอลดค่าไฟ 50% นาน 3 เดือน
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พศ.ยังเสนอให้ลดค่าไฟ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทยจะรับไปพิจารณาไปพูดคุยกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงต้องไปคุยกันในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วย ทั้งนี้ การไฟฟ้า และการประปา ไม่ได้ตัดน้ำตัดไฟ เพราะถือว่าเป็นศูนย์กลางที่ประชาชนเข้าไปทำบุญ และวัดยังเป็นศูนย์กลางแจกจ่ายถุงยังชีพ ทำโรงทานช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ยังพบว่า ในส่วนของตู้รับบริจาคค่าน้ำค่าไฟของวัดนั้น ไม่มีการบริจาคเลย
ส่งรายชื่อคืนกระทรวงตรวจสถานะ
วันเดียวกัน มีรายงานจากกระทรวงเกษตรฯว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ส่งคืนข้อมูลรายชื่อทะเบียนเกษตรกรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งสิ้น 224,331 ราย เพื่อให้ตรวจสอบสถานะต่างๆ แบ่งออกเป็นการเสียชีวิต ถูกจำหน่าย และเลขบัตรประชาชนไม่ตรงกับทะเบียนราษฎร 132,905 ราย และเป็นข้าราชการ 91,426 ราย นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ 158,905 ราย เนื่องจากเกษตรกรยังไม่ได้แจ้งเลขที่บัญชีรับโอนเงิน โดยเกษตรกร สามารถแจ้งช่องทางการโอนเงินได้ที่เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ส่วนผลการโอนเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 5,000 บาท ระยะเวลา3เดือน ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15พ.ค.-16 มิ.ย.2563 รวมทั้งสิ้น 46,178.22 ล้านบาทจำแนกเป็นการโอนเงินในเดือน พ.ค.2563 จำนวน 7,235,675ราย จำนวนเงิน 36,178.38 ล้านบาท และเดือนมิ.ย.2563เริ่มทยอยโอนแล้ว 1,999,968 ราย วงเงิน 9,999.84ล้านบาท

เกษตรกรยื่นอุทธรณ์ 192,511 ราย
สำหรับการตรวจสอบสิทธิ์และการอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.moac.go.th หรือแอปพลิเคชัน “เกษตรดิจิทัล-Digital Farmer” โดยอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.-5 มิ.ย.63 มีเกษตรกรยื่นเรื่องอุทธรณ์เยียวยาที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงาน 192,511 ราย รวมทั้งสิ้น 194,021 เรื่อง โดยจำแนกเรื่องตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร 170,668 เรื่อง กรมปศุสัตว์ 14,630 เรื่อง กรมประมง 1,656 เรื่อง การยางแห่งประเทศไทย 6,828 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 215 เรื่อง กรมหม่อนไหม 20 เรื่อง และกรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 4 เรื่อง โดยผลการดำเนินงาน หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 16,144 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด 1,744 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 176,133 เรื่อง
โอนงวด 2 เกษตรกร 3 วัน 2.9 ล. ราย
ขณะที่นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วันนี้ (17 มิ.ย.) ธ.ก.ส.โอนเงินเยียวยาเกษตรกรจำนวน 5,000 บาท 3 เดือน งวดที่ 2 ให้เกษตรกรเพิ่มอีก 999,983 ราย ทำให้ตั้งแต่วันที่ 15-17 มิ.ย.63 รวม 3 วัน ธ.ก.ส.โอนเงินให้กับเกษตรกรแล้ว 2.99 ล้านราย เป็นเงิน 14,999.76 ล้านบาท ส่วนคนที่เหลือ 4.21 ล้านราย คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นใน 4 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีธนาคาร ซึ่งเกษตรกรแจ้งข้อมูลเข้ามาเพิ่มแล้ว 45,210 ราย หากได้รับคำยืนยันจากธนาคารต่างๆ ธ.ก.ส.จะโอนให้ทันที ส่วนที่ยังไม่สามารถโอน 157,248 ราย เนื่องจากเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์ยังไม่แจ้งเลขบัญชีนั้น ขอให้เกษตรกรรีบแจ้งหมายเลขบัญชีผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com เป็นบัญชีธนาคารใดก็ได้ รวมทั้งให้ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ระดับภูมิภาคให้ไปติดต่อที่บ้าน และแจ้งข้อมูลเลขบัญชีมายัง ธ.ก.ส.
พม.คาดจ่ายกลุ่มเปราะบางต้น ก.ค.
อีกด้านหนึ่ง นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงถึงการจ่ายเงินตามมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน 3 กลุ่มที่ไม่เคยได้รับสิทธิช่วยเหลือเยียวยา ประกอบด้วยกลุ่มเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ รวม 6,781,881 รายรายละ 1,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ว่า พม.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเบิกจ่ายให้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย คาดว่าน่าจะเริ่มจ่ายได้ต้นเดือน ก.ค.จำนวน 2,000 บาทเป็นยอดเดือน พ.ค. และ มิ.ย. และอีก 1,000 บาทในต้นเดือน ส.ค.
เตือนอย่าหลงเชื่อหลอกลงทะเบียน
นางพัชรีกล่าวย้ำต่อว่า ทั้ง 3 กลุ่มไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ เพราะ พม.จะจ่ายผ่านบัญชีหรือเงินสด ยึดจากฐานข้อมูลในการจ่ายเบี้ยต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่แล้ว ฝากย้ำอย่าไปหลงเชื่อผู้ไม่หวังดีหลอกให้ลงทะเบียนใดๆ ส่วนที่ ครม.อนุมัติช่วยเหลือเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนเช่นกันนั้น กรณีที่ได้รับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางไปแล้ว จะไม่ได้รับในส่วนนี้ เพราะเป็นการช่วยเหลือเพียง 1 คนต่อ 1 สิทธิ์ ยกเว้นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่เป็นการจ่ายให้กับเด็กที่มีสิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่หากได้รับการเยียวยาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดในแต่ละพื้นที่ หรือโทร.สอบถามศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300

ผู้ประกันตนพัทลุงขอเงินเยียวยา
ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายปราโมทย์ รักจันทร์ ผู้แทนนายจ้างของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” และเงินเยียวยาเกษตรกรตามโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน จ.พัทลุง มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้รับผลกระทบกว่า 18,000 คน นายจ้างและลูกจ้างทราบดีว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิกรณีว่างงาน เลิกจ้าง แต่เงินดังกล่าวเป็นเงินสะสมของผู้ประกันตนและนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือน ไม่ใช่เงินเยียวยาจากรัฐบาล ขอเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรฯ ไม่สมควรนำฐานข้อมูลผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมมาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาผู้ได้รับสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาล จนทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคเหมือนกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ขอให้รัฐบาลทบทวนอย่างเร่งด่วน
ลุยตรวจร้านอาหารเมืองชุมแพ
ส่วนบรรยากาศหลังประกาศผ่อนปรนเฟส 4 ในต่างจังหวัด นางสุภาวดี ศรีสุขวัฒน์ นอภ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น สั่งการให้นายสมคิด ชำนิกุล ปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน นำกำลัง อส.ร่วมกับสายตรวจ สภ.ชุมแพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกตรวจร้านอาหารในเขตพื้นที่ อ.ชุมแพ หลัง ศบค.คลายล็อกเฟส 4 ผ่อนปรนให้นั่งดื่มกินเหล้าเบียร์ในร้านได้ โดยเข้าตรวจร้านเดอะป๊อบ@ชุมแพ ถนนมลิวรรณ ร้านวันวาน ถนนชุมแพ-ภูเขียว และร้านอุดมสุข@ชุมแพ ริมสวนสุขภาพโสกน้ำใส พบว่าทุกร้านตั้งจุดคัดกรองอย่างเคร่งครัด มีเพียงการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างที่บางร้านยังค่อนข้างหนาแน่น นายสมคิดกล่าวว่า ร้านต่างๆยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย จัดให้มีจุดล้างมือ การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด จำกัดจำนวนบุคคลในร้าน และต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะด้วย
ขอทบทวนเปิด 2 อุทยานฯ กระบี่
ขณะที่นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ เผยว่า หลังจากกรมอุทยานฯเตรียมปลดล็อกแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ 127 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 150 แห่ง ในวันที่ 1 ก.ค. โดยอุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานฯธารโบกขรณี อ.เมืองกระบี่ เป็น 2 อุทยานฯที่อยู่ในข่ายยังไม่เปิดให้เที่ยวได้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการใน จ.กระบี่ เป็นอย่างมาก เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆของ จ.กระบี่ ล้วน อยู่ใน 2 อุทยานฯดังกล่าว ได้ร่วมประชุมหารือรวบรวมปัญหาความเดือดของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อกรมอุทยานฯขอให้คลายล็อก 2 อุทยานฯดังกล่าว ผู้ประกอบการพร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้านนายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หน.อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า จะรวบรวมปัญหาและความเดือดร้อนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว จ.กระบี่ เสนอต่อกรมอุทยานฯเพื่อพิจารณาต่อไป
หมู่เกาะเภตราพร้อมเปิด 1 ก.ค.
ด้านนายวิทยา บัวพล หัวหน้าอุทยานฯ หมู่เกาะเภตรา จ.สตูล กล่าวว่า กรมอุทยานประกาศเปิดอุทยานฯให้ท่องเที่ยวได้ แบ่งเป็นเปิดให้เข้าทุกจุดท่องเที่ยว 64 แห่ง เปิดจุดท่องเที่ยวบางส่วน 63 แห่ง และยังปิดต่อ 28 แห่ง สำหรับอุทยานฯหมู่เกาะเภตรา จัดอยู่ในกลุ่มเปิดจุดท่องเที่ยวบางส่วน มีพื้นที่ครอบคลุม จ.สตูล และ จ.ตรังบางส่วน (เกาะเหลาเหลียง) พร้อมเปิดให้ท่องเที่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ประกอบด้วย สะพานข้ามกาลเวลา ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯหมู่เกาะเภตรา ปราสาทหินพันยอด และเกาะลิดี ที่อยู่ไม่ห่างฝั่งมากนัก รองรับนักท่องเที่ยวได้จุดละ 100 คน ต่อการให้บริการในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ จะเป็นการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New Normal) จำกัดจำนวนคน ใช้การสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ เช็กอิน-เช็กเอาต์เพื่อคัดกรองนักท่องเที่ยว รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดก่อนเข้าแหล่งท่องเที่ยว

แห่ซื้อชุด นร.รับเปิดเทอม
วันเดียวกัน ที่ย่านบางลำพู กทม.แหล่งจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียนชื่อดัง บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก บรรดาผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมากทยอยเดินทางมาซื้อหาเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. โดยเฉพาะร้านที่ได้รับความนิยมมายาวนาน อย่างร้านชุดนักเรียนตราสมอ และร้านท๊อป ตลอดทั้งวัน พ่อแม่ปู่ย่าจูงบุตรหลานเดินเข้าออกซื้อชุดนักเรียนกันไม่ขาดสาย นายวรวิทย์ ศิริวณิชสุนทร ผู้ดูแลร้านชุดนักเรียนตราสมอ เผยว่า เนื่องจากการเปิดภาคเรียนปีนี้เลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.ค.ประกอบกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงไปราว 10% ลูกค้าบางคนอาจใช้เครื่องแบบเก่าที่พอใช้ได้อยู่ไปก่อนเพื่อเป็นการประหยัด เว้นแต่กลุ่มผู้ปกครองที่บุตรหลานต้องเปลี่ยนชั้นเรียนจากอนุบาลเป็นชั้นประถมหรือป.6 ขึ้นมัธยม ต้องซื้อเครื่องแบบใหม่ ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือชุดเบอร์ไซส์ใหญ่ขายหมดเกลี้ยง เหตุเพราะเด็กหยุดอยู่บ้านนานหลายเดือนตัวโตขึ้น ต้องอัปขนาด ส่วนเรื่องราคาของชุดนั้นยังคงปกติไม่มีการขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า
หลายครอบครัวกัดฟันเพื่อลูก
นายกฤษฎิ์ กุลเพชรชาตรี วัย 37 ปี อาชีพพนักงานส่งสินค้า กล่าวว่า บุตรสาวขึ้นเรียนชั้น ป.1 ต้องซื้อเครื่องแบบนักเรียนใหม่ทั้งหมด แต่เนื่องจากช่วงนี้รายได้ลดลงทำให้ครอบครัวต้องแก้ปัญหาด้วยการแบ่งการซื้อ อุปกรณ์การเรียนเป็นรอบๆ ไม่สามารถที่จะซื้อครั้งเดียวครบ ยืนยันว่าแม้จะมีรายได้ที่ลดลงต้องดิ้นรนมากขึ้น แต่เรื่องการศึกษาของลูกจะไม่ยอมให้ตกหล่น ลูกจะต้องได้ไปเรียนโดยมีอุปกรณ์และเครื่องแบบในการเรียนครบถ้วนตามที่โรงเรียนกำหนดเหมือนคนอื่น ด้านนางนารี (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานบริษัท วัย 40 ปี กล่าวว่า ครอบครัวตนได้รับผลกระทบในช่วงนี้อย่างรุนแรงเนื่องจากสามีต้องถูกเลิกจ้างเมื่อใกล้เปิดเทอม ต้องกัดฟันหาเงินมาซื้อชุดนักเรียนให้ลูกก่อนเปิดเรียน โชคดีที่มีบุตรชาย 2 คน คนโตเรียนชั้น ม.3 คนเล็กขึ้นชั้น ม.2 สามารถที่จะให้คนเล็กสลับไปใช้เครื่องแบบพี่ชายแทนได้เพื่อที่จะไม่ต้องซื้อชุดใหม่ 2 คน

นายกฯออกทีวีชูนิวนอร์มอล (ชมคลิป)
ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หัวข้อ วิธีการทำงานแบบนิวนอร์มอลของนายกรัฐมนตรีว่า แม้ยังประกาศชัยชนะต่อโควิดได้ไม่เต็มที่นัก แต่ต้องทำวันข้างหน้าคือทำให้คนไทยสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้ดังเดิมอีกครั้ง วิกฤติโควิดครั้งนี้ ทำให้ตนได้ตระหนักชัดว่าประเทศ ไทยมีความแข็งแกร่งที่เป็นสุดยอดไม่แพ้ประเทศใดในโลก 2 เรื่อง ความเป็นไทย คือความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวช่วยเหลือกันในยามวิกฤติ และมีคนเก่งที่มีความสามารถอยู่เยอะมากต้องการที่จะช่วยประเทศชาติโดยไม่มีข้อแม้ ทำไมเราถึงไม่จับมือฝ่าวิกฤติทำประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวไปข้างหน้า คิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและทั้งประเทศ ควรจะทำงานในทุกวันให้เหมือนกับว่าเราอยู่ในวิกฤติ เราต้องก้าวข้ามเกมการเมือง และลงมือทำงานกันอย่างจริงจังให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จากนี้เป็นต้นไปรัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่นิวนอร์มอล ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย
สัปดาห์หน้าเปิดรับฟังทุกภาคส่วน
นายกฯกล่าวต่อว่า หลังโควิดจะปรับวิธีการวางแผน และกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆของรัฐบาล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สัปดาห์หน้าจะขอให้แต่ละภาคส่วนเตรียมการเข้ามานำเสนอวิสัยทัศน์เปลี่ยนโฉมและขับเคลื่อน หลังรับความคิดเห็นแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาความเป็นไปได้ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ข้อเสนอแนะต่างๆในวิธีการที่โปร่งใส และเปิดกว้างหาหนทางที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้นจริง เปลี่ยนการประเมินผลงานภาครัฐโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง และทำงานเชิงรุกมากขึ้น กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม ให้กระทรวงต่างๆทำขึ้นมาขออนุมัติจาก ครม. ตนจะติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริง อาจจะมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยหรือมีการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมรับฟังหากเป็นข้อเสนอแนะที่ดีพร้อมที่จะทำตาม