รพ.เตรียมพร้อมรับปัญหาใหม่ การศึกษาปรับหลักสูตรเข้าถึงกลุ่มอาชีพ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช.ได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ตลาดแรงงาน และสุขภาพ เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยด้านเศรษฐกิจพบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีการกลับมาประเทศไทย ธุรกิจส่วนมากเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติแต่ยังมีการลดค่าใช้จ่ายและชะลอการลงทุน ตลาดออนไลน์กลายเป็นความปกติใหม่หรือนิวนอร์มอล การทำงานที่บ้านเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในด้านสังคมพบว่า ประชาชนเริ่มกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเดิมของตน สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และเกิดนวัตกรรมในระดับชุมชนมากขึ้น

ผอ.สอวช. กล่าวต่อว่า ด้านการศึกษาพบว่า สถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนโดยมีมาตรการการป้องกันเป็นเรื่องปกติ การเรียนมีการผสมผสานทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่ผู้เรียนเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ๆ ทำให้บางหลักสูตรมีการปิดตัวลง การเรียนการสอนเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น ส่วนด้านตลาดแรงงานพบว่าประชาชนหันไปทำงานในลักษณะอิสระมากขึ้น ขณะเดียวกันการรับราชการก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะต้องการความมั่นคงในชีวิต ประชาชนลดการบริโภคของฟุ่มเฟือย และให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่พัฒนาคุณภาพชีวิต

...

ดร.กิติพงค์กล่าวอีกว่า ขณะที่ด้านสุขภาพพบว่าพฤติกรรมการป้องกันโรคระบาดหลายเรื่องกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม เช่น การล้างมือเป็นประจำ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ส่วนโรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับโรคระบาด ประเทศไทยมีการพัฒนาและส่งออกวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น เทคโนโลยีด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงประชาชนในชนบทได้มากขึ้น ภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพมากขึ้น.