การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อ “การศึกษาไทย” ในหลายด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วย “ปลดล็อก” การศึกษาไทยในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การประชุมสัมมนา การจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้ “ครู” ตื่นตัวและปรับตัวสู่การเรียนการสอนรูปแบบใหม่
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการบรรยายพิเศษ “Roadmap การศึกษาไทย : การศึกษายกกำลังสอง” ณ หอประชุมคุรุสภาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่ากระทรวงจะใช้วิกฤติ ให้เป็นโอกาส การศึกษายกกำลังสองคือ การพัฒนาการศึกษาให้มีความเป็นเลิศและเกิดพลังในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง พร้อมเชื่อมโยงสิ่งต่างๆด้วยการสร้างกลไกที่เข้มแข็ง

เพื่อสร้าง “การศึกษา” และสร้าง “ทุนมนุษย์ (Human Capital)” ที่มีความเป็นเลิศ สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น...มีทักษะชีวิตที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์
...
“การศึกษา” คือ “การพัฒนา”...คือการให้โอกาสที่ดีแก่เด็กและเยาวชนผู้ที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติในภายภาคหน้า พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. ย้ำว่า การศึกษาคือการสร้างคนให้เป็นคน การศึกษาคือการสร้างคนให้สงบสุข
การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและดีที่สุดในขณะนี้ แต่...การศึกษาของเด็กไทยในปีการศึกษานี้ได้ถูกเลื่อนไปให้ห่างจากเดิมที่เคยเริ่มต้นในกลางเดือนพฤษภาคม ไปเป็นต้นเดือนกรกฎาคมของปี
สภาพการณ์หรือบรรยากาศที่เราเคยพบเห็นมาในอดีตก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานของภาครัฐก็ได้มีความตระหนักด้านการศึกษา เพื่อมิให้เด็กนักเรียนได้มีเวลาว่างเว้นจากการปิดเรียนนานจนเกินไป จึงได้เปิด “สอนออนไลน์” ขึ้นมาเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามปกติ

ถึงแม้ว่าปัญหาและอุปสรรคที่ได้พบเห็นมากมายเพียงใด แต่ก็เป็นความไม่ปกติของการศึกษาเด็กไทยเราทำได้ แต่...สุดท้ายก็ต้อง “สอบตก” อยู่ดี?
“การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจอันสำคัญยิ่งที่จะบ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้า หรือความล้าหลังผู้คนในชาติ การศึกษาย่อมเป็นต้นเหตุของการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญาตามหลักวิชาการการศึกษา มิใช่จะอยู่ภายในห้องเรียนหรือภายในสถานศึกษาเท่านั้น ตั้งแต่เกิดมา หรือตื่นขึ้นมาก็ล้วนเป็นเรื่องที่จะศึกษาทั้งนั้น”
การใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นไปด้วยดีก็ล้วนแต่เป็นการศึกษา สำหรับการศึกษาของคนไทยและชาติไทยอาจจะแตกต่างจากชาติอื่นๆอยู่บ้าง เพราะการเรียนรู้ของคนไทยจะต้องมีบุคลากรทางการศึกษาหรือที่เรียกกันว่า “ครูหรืออาจารย์” เป็นผู้สอน หรือผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ จะต้องมีสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นเป็นหลักแหล่งและได้รับการอนุญาตการยอมรับจากทางราชการ นั่นก็คือ...มีระบบการเรียนการสอนที่ชัดเจน

สรุปก็คือ “คนไทย” เรียนหนังสือระดับการศึกษาใดก็ตาม เรียนอย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมี “อาจารย์และศิษย์” นี่คือความชัดเจน หรือเอกลักษณ์ของการศึกษาไทยและของคนไทย กระนั้นการศึกษาไทยก็ได้ก้าวไกลไปอีกระดับหนึ่ง แต่ก็ยังใช้คำว่า “กำลังพัฒนา” เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆที่อยู่รอบข้าง หรือสังคมโลก
...
“เราคงต้องช่วยกันพัฒนาการศึกษาของชาติไทยเราให้ก้าวหน้ากันต่อไป ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย ช่วยกันทุกฝ่ายแล้วความสมบูรณ์ของการศึกษาก็จะเกิดขึ้นกับลูกหลานไทย”
การใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษานี้ที่ล่าช้าออกไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุดก็คือ การเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ทุ่มเทความรู้ความสามารถที่มีอยู่นี้กันอย่างเต็มที่ ระดมสรรพกำลังทั้งแรงกาย ...แรงสติปัญญาดำเนินการอย่างสุดความสามารถ
อาจจะได้ผลบางกรณี และ...ก็อาจจะประสบความล้มเหลวในบางกรณีคงต้องทำใจ
เพราะเป็นการดำเนินการในรูปแบบใหม่ อาจจะมีข้อบกพร่องกันอยู่บ้าง อาจจะเกิดความภาคภูมิใจว่าทำได้กันอยู่บ้างก็คงอะลุ้มอล่วยกันไป เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มิใช่นโยบายที่ถาวร เมื่อเปิดเทอมกันใหม่ทุกอย่างก็จะเข้าสู่สภาวะปกติ การเรียนออนไลน์ก็จะยุติลงไป...
“ขอทุกท่านอย่าได้เอาจริงเอาจังจนเกินไปจนก่อให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งขึ้นมา”
ตอกย้ำการศึกษาคือ การพัฒนา ส่วนใดที่ไม่พัฒนาก็มิใช่เท่านั้นเอง แต่การผ่อนหนักให้เป็นเบาบวกกับสิ่งที่ควรทำก็ทำลงไปจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทุกวันทุกเวลาล้วนมีค่าต่อการศึกษาลูกหลานไทย

...
“การศึกษา” ที่จะให้ดีและครบถ้วนมิใช่เพื่อให้เกิดเพียงปัญญาเพื่อการเรียนรู้เท่านั้น การศึกษาจะต้องให้เกิดการเป็น "เด็กดี" หรือเป็น “คนดี” ในเบื้องต้นการศึกษาจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังให้เด็กได้ “คิดดี”...“พูดดี” และ...“ทำดี” ให้ครบทั้งสามองค์ประกอบ การศึกษาจะต้องปลูกฝังให้ผู้เรียนมี “ศีล” เป็นของตนเอง
...มีจิตใจที่มีความเมตตาปรานี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น มีกิริยามารยาทที่งดงาม รู้จักสัมมาคารวะ มีจิตสำนึกของความเป็นศิษย์และครูบาอาจารย์ รู้จักที่สูงและรู้จักที่ต่ำ สรุปคือการศึกษาที่ทำให้เป็นคนมีศีล
ถึงตรงนี้...การศึกษาย่อมก่อให้เกิดความแม่นยำในเนื้อหาวิชาที่ดีและถูกต้อง เกิดสมาธิที่แน่วแน่ คนที่มีสมาธิดีก็ย่อมจดจำได้ดี...มีโอกาสเรียนหนังสือเก่ง ผลการเรียนดี จนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง คนในครอบครัว รวมถึงครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ “สมาธิ”...จึงเป็นหัวใจอันสำคัญยิ่งในการศึกษาเล่าเรียน
“จะเห็นว่าในแต่ละสถานศึกษาได้มีครูหรืออาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ บางทีอาจจะเป็นครูหรืออาจารย์ที่มาจากบุคคลที่เคยบวชพระมาแล้วก็มี หรือเป็นครูที่รักวิชาด้านนี้ก็มี ดังนั้น ก่อนจะเข้าเรียนหนังสือจึงมีการฝึกสมาธิหรือนั่งสมาธิตามกาลเวลาที่เหมาะสมเกือบทุกครั้ง”
เพื่อให้ผู้ที่จะเรียนหนังสือได้เกิดความนิ่ง ความแน่วแน่ ความมั่นคงทางอารมณ์ จะได้เกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ทางวิชาการภายในห้องเรียน สรุปการศึกษาที่ทำให้เป็นคนมีสมาธินั่นเอง....
...

“การศึกษา” ย่อมหวังให้เกิด “สติ” และ “ปัญญา”...เพื่อการรู้ เข้าใจ ทุกชีวิตย่อมต้องการเรียนรู้...ต้องการความเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจ เมื่อมีความรู้ก็จะสามารถนำเอาความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวัน หรือในอาชีพหน้าที่การงานในวันข้างหน้า
“ปัญญาจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา การถ่ายทอดความรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนก็มีส่วนสำคัญที่จะให้ผู้เรียนรู้ได้มีความเข้าใจ...มีประสบการณ์มากขึ้น ถ้าเด็กเข้าเรียนหนังสืออย่างมีความสุขมีความอบอุ่นแล้ว สติและปัญญาก็จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่...เต็มความสามารถ”
ตรงกันข้ามความขัดแย้งเกิดขึ้นในห้องเรียนไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตามเด็กคนนั้นย่อมเรียนหนังสือไม่มีความสุข ไม่เกิดสติและปัญญาอย่างแน่นอนเพราะบรรยากาศในห้องเรียนของเขากลายเป็น “ห้องนรก” เล็กๆในชีวิต
สถานศึกษาและห้องเรียนของเด็กจะต้องให้เป็น "สวรรค์" ของเด็กจริงๆ ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นกับเด็กคนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระยะสั้นหรือระยะยาว ทั้งในระบบ...นอกระบบ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจ
“เรียนแล้ว...ลูกหลานของเราจะต้องมีทั้งวิชาคือ ความรู้ ความเข้าใจ และจรณะ...ข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามในชีวิต จึงจะเป็นการให้การศึกษาที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการเรียนตลอดทั้งปีและตลอดทั้งชีวิต แต่สุดท้ายก็สอบตกดังเหตุผลดังกล่าวมานี้” พระมหาสมัยกล่าวทิ้งท้าย.