ประเทศไทยน้ำท่าอุดมสมบูรณ์...พูดไปคงไม่มีใครเชื่อ เพราะบ้านเรามีปัญหาภัยแล้งทุกปี แม้แต่กลางฤดูฝนยังเกิดภัยแล้งขึ้นมาได้
แต่ถ้าดูสถิติตัวเลขน้ำฝนที่หล่นมาจากฟ้า...ต้องบอกว่า บ้านเราได้น้ำฝนเยอะมากจนเกินความ ต้องการใช้ถึง 5 เท่าตัว
เพราะบ้านเรามีฝนตกเฉลี่ยปีละ 1,455 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณน้ำที่หล่นมาจากฟ้ามีมากถึง 763,800 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ รวมกันแล้วแค่ปีละ 147,746 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้นเอง
ฝนที่ตกลงทั้งหมดเราอยากจะเอามาใช้ได้แค่ 20% เท่านั้นเอง
เรามีน้ำเหลือเฟ้อ แต่ทำไมภัยแล้งถึงเกิดขึ้นมาได้...น้ำฝนอีก 80% มันหายไปไหน
ส่วนหนึ่งเป็นน้ำท่าอยู่ในแม่น้ำลำคลอง อีกส่วนถูกเก็บกักอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินและซึมลงใต้ดิน...แต่น้ำจากฟ้าส่วนใหญ่ 60% ไหลทิ้งลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์
“จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้ง เรามีน้ำไม่พอใช้กัน มาจากเรามีแหล่งเก็บกักน้ำไม่มากพอ ถ้าจะสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำเพิ่ม ไม่อาจจะทำได้ง่าย การแก้ปัญหาเลยต้องใช้วิธีเพิ่มขนาดแหล่งน้ำเดิมให้เก็บกักน้ำให้ได้มากขึ้น เช่น การขุดลอกคูคลองต่างๆ ซึ่งมีทำกันทุกปี แต่ปัญหามันก็ยังเกิดซ้ำซาก เพราะเราใช้วิธีการเดิมๆ โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ กว่างบประมาณจะออกมาให้นำไปใช้ได้ขุดจริง เวลามักจะล่วงเลยเข้าสู่หน้าฝนไปแล้ว การขุดลอกเลยไม่ค่อยได้ผล คงต้องพยายามหาวิธีที่จะทำให้ระบบงบประมาณ สามารถออกมาให้ใช้ได้เร็วขึ้น ออกมาให้ทันในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้การขุดลอกเก็บกักน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
...
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้ให้เห็นภาพความจริงของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และที่ยังเป็นปัญหาหนักกว่าการขุดลอกคูคลอง
เป็นปัญหาการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เขื่อน ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นมา...ที่มีมากถึง 141,617 แห่ง
ปรากฏว่ามีอยู่ 99% หรือ 140,664 แห่ง ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปรับผิดชอบดูแล
เลยทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้ง ไม่ได้รับการบำรุงรักษาดูแลให้สามารถนำมาใช้เก็บกักน้ำให้เต็มประสิทธิภาพ
เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ถ้าเราสามารถมอบหมายให้มีหน่วยงานเข้าไปดูแลรับผิดชอบ เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเหล่านี้ให้มีศักยภาพในการเก็บน้ำเต็มที่ พร้อมทั้งสร้างระบบเครือข่ายโยงใยส่งกระจายน้ำไปให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้กับเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่อาจจะสร้างเหล่งเก็บน้ำใหม่ให้ได้มากกว่านี้...นี่คงจะเป็นปัญหาซ้ำซากที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป ไม่ต่างกับปัญหาแล้งซ้ำซาก.
ชาติชาย ศิริพัฒน์