มะม่วงอยู่ในช่วงเริ่มเข้าสู่ช่วงแทงช่อดอกและติดผล กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงให้ระวัง...เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงขนาดเล็กยาวประมาณ 1-2 มม. ตัวเต็มวัยมีปีกเรียวยาว 2 คู่ ตัวอ่อนคล้ายตัวแก่แต่ไม่มีปีก ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลอ่อน ส่วนตัวอ่อนสีจางกว่า...ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะพบบริเวณใต้ใบยอดอ่อนและในดอกที่บานแล้วเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ฐานรองดอก และขั้วผลอ่อน
กรณีไม่ระบาดรุนแรง จะพบแผลชัดเจนเป็นวงใกล้ขั้วผลมีสีเทาเงินเกือบดำหรือผลบิดเบี้ยว...แต่หากระบาดรุนแรง ผิวของผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมด ทำให้ผลผลิตมีราคาต่ำลง
การทำลายในระยะติดดอก จะส่งผลให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือติดผลน้อย ส่วนอาการบนยอดอ่อน จะส่งผลทำให้ใบที่แตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็กๆ สำหรับใบที่ขนาดโตแล้วมักลงทำลายตามขอบใบ ทำให้ใบม้วนงอและปลายใบไหม้ ถ้าเป็นการทำลายยอดจะรุนแรง ส่งผลทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบหรือช่อดอก การทำลายที่ตา ช่อดอกบิดเบี้ยว หงิกงอ หรือติดผลน้อย และผลเล็กๆที่ถูกทำลายอาจร่วงหล่นได้

...
หากพบการระบาดไม่มาก ให้ตัดส่วนที่เพลี้ยไฟทำลายนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟจะอยู่เป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช
จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ฉีดพ่นในระยะติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอกและระยะเริ่มติดผลขนาดเท่ามะเขือพวง
กรณีพบการระบาดรุนแรง อาจจำเป็นต้องพ่นซ้ำในระยะก่อนดอกบาน แต่ให้หลีกเลี่ยงฉีดพ่นสารฆ่าแมลงในระยะดอกบาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร.
สะ–เล–เต