นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง เผยว่า ปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบกับการเลี้ยงในกระชัง เพราะปริมาณน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ หากเกษตรกรพบว่าพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอให้ชะลอการเลี้ยงสัตว์น้ำออกไปก่อน หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำปรับเปลี่ยนมาทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรงจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ และเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดระยะเวลาให้น้อยลง สัตว์น้ำจะทนต่อสภาพแล้งได้มากกว่า และควรปล่อยสัตว์น้ำที่ความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ

“แหล่งน้ำที่ตั้งกระชังมีความสำคัญมาก ควรมีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 ซม. ให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก และไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากจะไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำ ระหว่างเลี้ยงควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอน และเศษอาหาร เพื่อตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อแบคทีเรีย หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติให้รีบหาสาเหตุ พร้อมกับแจ้งผู้เพาะเลี้ยงรายอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เมื่อมีสัตว์น้ำตายควรฝังหรือเผา ไม่ทิ้งไว้จะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรค”

...

รองอธิบดีกรมประมงแนะอีกว่า โรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง มีโรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา สัตว์น้ำที่มีปรสิตจะว่ายน้ำแฉลบผิดปกติ หรือรวมกลุ่มกันที่ผิวน้ำ อ้าปากหายใจถี่ มีจุดแดง และมีแผลถลอกตามผิวลำตัว การรักษาโดยตัดวงจรชีวิตปรสิต กำจัดตะกอนและเศษอาหารที่เกาะตามกระชังให้ใช้สารเคมี เช่น ไตรคลอร์ฟอน (กลุ่มยาฆ่าแมลง) อัตรา 0.5-0.75 ส่วนในล้านส่วน (0.5-0.75 กรัมต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน) ใส่ทุกๆ 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นที่ตัวปลาควรนำขึ้นจากกระชัง พักใส่ถังหรือบ่อ หรือใช้ผ้าใบล้อมกระชังปลา แล้วจึงใช้สารเคมีไม่ควรใส่ยา หรือสารเคมีลงในแหล่งน้ำโดยตรง

ส่วนโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส (Strepto coccus sp.) แอโรโมแนส (Aeromonas hydrophila) วิบริโอ (Vibrio sp.) สัตว์น้ำที่เป็นโรคเกิดจากแบคทีเรียจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ว่ายน้ำควงสว่าน มีแผลเลือดออกตามผิวลำตัว มีตุ่มฝีที่ใต้คางและผิว ตาขุ่น โปน ครีบกร่อน ท้องบวม การรักษาใช้ยาต้านจุลชีพผสมอาหารตามคำแนะนำในฉลากยา หากมีปัญหาปรึกษาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด 0-2562-0600.