คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนมีนโยบายที่จะให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาจัดการเรียนการสอนเรื่องโค้ดดิ้ง ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2563 ดังนั้น การทดสอบก็ต้องปรับด้วย โดยได้มอบหมายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เตรียมปรับข้อสอบโอเน็ตให้มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งขณะนี้กำลังมีการระดมสมองเพื่อวางแผนจัดทำข้อสอบ ขณะที่ครูผู้สอนก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะกระทรวงศึกษาธิการจะจัดส่งคู่มือ ตำรา เพื่อให้ครูทุกกลุ่มสาระสามารถปรับใช้โค้ดดิ้งในการสอนวิชาของตนเองได้

นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพร้อมในการดำเนินงานเกี่ยวกับการสอบโอเน็ต โดยสร้างความตระหนักและสื่อสารให้กับนักเรียน ครู โรงเรียน ให้เห็นถึงความสำคัญของการสอบโอเน็ต เพราะผลการสอบจะมีการนำไปใช้ในการคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อ และวัดผลสัมฤทธิ์รายบุคคล ซึ่งจะทำให้ครูสามารถนำผลการทดสอบนี้ไปพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลได้ นอกจากนี้ โอเน็ตยังเป็นตัวกระตุ้นให้โรงเรียนมีความใส่ใจในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดและมาตรฐานของหลักสูตร ให้เด็กมีความรู้ความสามารถตามที่หลักสูตรกำหนดอย่างแท้จริง และ สพฐ.ยังสนับสนุนให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำผลสอบโอเน็ตไปใช้ในการพัฒนาเด็ก สอนเสริมในจุดที่เด็กอ่อนให้ได้รับการพัฒนา

“สพฐ.มีการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลาย ทั้งในห้องเรียน การเรียนทางไกล จึงได้จัดทำคลังข้อสอบ เพื่อให้โรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่แตกต่างหลากหลาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหลังจากที่มีการสอบโอเน็ตแล้ว สำนักทดสอบทางการศึกษาของ สพฐ. ก็จะทำคลังข้อสอบของกลุ่มสาระต่างๆ เพื่อให้ครูได้นำไปใช้และเด็กได้นำไปฝึกฝนให้เกิดความคุ้นเคย นอกจากนี้ ในคลังข้อสอบของ สพฐ.ยังมีรูปแบบข้อสอบระดับนานาชาติ เช่น ข้อสอบ PISA ให้ครูและนักเรียนนำไปใช้และฝึกฝนเช่นกัน ทั้งนี้ สพฐ.ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทดสอบการประเมินเพื่อประโยชน์ในการสอนของครู และการพัฒนาตนเองของนักเรียน” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว.

...